Iga ware

"เครื่องอิงะ" เป็นสไตล์ของเครื่องปั้นดินเผาที่ถูกพัฒนาขึ้นในบริเวณรอบๆ เมืองอิงะและนาบาริ จังหวัดมิเอะ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีรายงานว่าเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้มีมาตั้งแต่เมื่อ 1,300 ปีก่อนในสมัยนารา เครื่องอิงะเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของผิวด้านนอกที่เป็นรอยไหม้และการเคลือบ "บิโดโระ" (Bidoro) สีเขียวสวยซึ่งเกิดจากการนำขี้เถ้าไปติดกับตัวเครื่องปั้นดินเผาระหว่างการเผาเคลือบด้วยความร้อนสูง

แต่เดิมเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ชงชา แต่ก็ได้พัฒนาไปจนถึงการผลิตหม้อ ชามข้าว ถ้วยชาและของใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คนเช่นกัน นอกจากนี้ ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมเองยังได้กำหนดให้เครื่องอิงะเป็นงานฝีมือญี่ปุ่นโบราณด้วย

ประวัติของเครื่องอิงะ

เครื่องอิงะ (Iga ware) เป็นคำเรียกเครื่องปั้นดินเผาที่ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ เมืองอิงะและนาบาริ จังหวัดมิเอะ เดิมทีในสมัยนารา (ค.ศ. 710 - 794) เครื่องอิงะถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ทำฟาร์ม อาทิเช่น หม้อและไห ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาและเติบโตขึ้นตามความนิยมของพิธีชงชาและทัศนะความงามแบบ "วาบิ-ซาบิ" (侘寂) ที่โอบรับความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เป็นแนวคิดที่มีขึ้นในสมัยอาซูจิ–โมโมยามะ (ค.ศ. 1573 - 1603)

ในปี 1548 สึสึอิ ซาดาสึงุ (筒井定次) เจ้าครองแคว้นอิงะได้ออกคำสั่งให้สร้างเตาเผาขึ้นในพื้นที่ของเขา พร้อมสอนเหล่าช่างฝีมือให้สร้างสรรค์อุปกรณ์สำหรับพิธีชงชาได้ตามใจชอบ ช่างปั้นใช้มือในการสร้างรูปทรงที่บิดเบี้ยวอย่างจงใจขณะที่ใช้ไม้พายแต่งแต้มริ้วลายจนดูเหมือนคลื่น จากนั้นก็นำไปเพิ่มรายละเอียดด้วยการเผาเคลือบในอุณหภูมิสูงตามสไตล์การเคลือบบิโดโระ ทำให้ด้านบนออกมาดูสวยงามตามแบบวาบิ-ซาบิซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ประกอบพิธีชงชา

ภายหลัง โทโดะ ทากาสึงุ (藤堂高紹) เจ้าครองแคว้นสึ (津藩) ลำดับที่สองของจังหวัดอิเซะ (มิเอะในปัจจุบัน) ได้เชิญให้เหล่าช่างปั้นจากเกียวโตมาพัฒนาเครื่องปั้น เครื่องปั้นดินเผาในช่วงที่สึสึอิปกครองนั้นถูกเรียกว่า "สึสึอิอิงะ" (Tsutsui Iga) ส่วนชิ้นที่ผลิตในยุคการปกครองของโทโดะนั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "โทโดะอิงะ" (Todo Iga)

ทั้งสองได้สร้างเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า "อิงะโบราณ" (Koiga) ขึ้นมาร่วมกัน และในเวลาเดียวกันนั้น เครื่องอิงะที่ใช้เป็นอุปกรณ์ดื่มชา หรือ "เอ็นชูอิงะ" (Enshu Iga) ที่สร้างขึ้นภายใต้การชี้แนะของนักชงชานาม โคโบริ เอ็นชู (小堀 遠州) ก็ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกัน

ที่มา: BECOS

ในปี 1669 การสกัดดินเหนียวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเครื่องอิงะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายและงานฝีมือชนิดนี้ก็ได้เลือนหายไปในเวลาต่อมา ทว่าในปี 1770 โทโดะ ทากาซาโตะ (藤堂高嶷) เจ้าครองแคว้นสึคนที่เก้าได้เริ่มทำการรับรองเครื่องปั้นดินเผาอิงะขณะที่เชิญให้ช่างปั้นดินเผาจากเกียวโตและเซโตะ (จังหวัดไอจิในปัจจุบัน) มาที่แคว้นของเขาเพื่อทำงาน

บรรดาช่างปั้นนำความรู้ที่ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การเคลือบเซรามิคมาด้วย นำไปสู่การผลิตเครื่องอิงะในระดับที่สามารถผลิตได้ทีละมากๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานปั้นก็ได้เปลี่ยนจากการผลิตอุปกรณ์ชงชาไปมุ่งเน้นการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างชามข้าวและหม้อแทน ในที่สุด มันก็ได้กลายมาเป็นเครื่องอิงะอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ลักษณะเฉพาะตัวของเครื่องอิงะ

ลักษณะพิเศษของเครื่องอิงะสามารถสังเกตได้จากรอยไหม้ และการเคลือบบิโดโระซึ่งทำด้วยการเผาชิ้นงานในอุณหภูมิสูงจนเถ้าไม้ที่ติดอยู่ที่ผิวด้านนอกกลายเป็นสารที่เหมือนแก้ว แม้จะฟังดูไม่แน่นอนเท่าไร แต่การที่จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ต้องอาศัยการทำงานหนักของช่างฝีมือที่มีพรสวรรค์และประสบการณ์เท่านั้น จึงจะสร้างชิ้นงานออกมาได้อย่างที่ใจปรารถนา

เนื่องจากดินเหนียวรอบๆ อิงะมีคุณสมบัติทนไฟสูง จึงมักจะถูกนำมาทำอุปกรณ์ที่ใช้กันเป็นประจำอย่างหม้อทนความร้อน และอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร

อีกหนึ่งลักษณะเฉพาะของเครื่องอิงะ คือ รูปทรงที่บิดเบี้ยวและลวดลายคล้ายคลื่นซึ่งเกิดจากมือหรือไม้พาย ความบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์แบบนี้ทำให้เครื่องอิงะแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นชนิดอื่น ผู้คนมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบพิธีชงชามักจะชื่นชอบความงามแบบวาบิ-ซาบิ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยเพราะเครื่องปั้นนี้มีความเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ชงชามาก่อน

ระหว่างการเผาเคลือบ กรวดเม็ดเล็กๆ ที่อยู่ในดินเหนียวจะทำปฏิกิริยากับเถ้าไม้และกลายเป็นสีเขียวใส ขั้นตอนนี้จะถูกทำซ้ำในอุณหภูมิสูงนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเหตุให้ขี้เถ้าแปรสภาพเป็นสารเคลือบสีเขียวที่เหมือนแก้ว สิ่งเหล่านี้บวกกับรอยไหม้ที่ผิวด้านนอก ทำให้งานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป

กระบวนการเปลี่ยนรูปและเปลี่ยนแปลงของสีนี้เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "โยเฮ็น" (Yohen) ซึ่งรูปลักษณ์สุดท้ายของเครื่องเคลือบนั้นจะขึ้นอยู่กับเตาเผาแต่ละเตาและทักษะทั้งหมดของช่างปั้น

เครื่องอิงะในปัจจุบัน

หลังจากที่โทโดะ ทากาซาโตะชุบชีวิตเครื่องปั้นดินเผาอิงะขึ้นมา ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร และมากขึ้นไปอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาวญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนมาใช้หม้อดินเหนียวแทน เนื่องจากหม้อและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำจากโลหะได้ถูกริบไปใช้ในการสงครามแล้ว

เตาเผานางาตานิเอ็น (Nagatanien) ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1832 ได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาอิงะมากว่า 180 ปีแล้ว โดยนำประเพณีอันลึกซึ้งและศิลปะอันวิจิตรงดงามมาสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการ ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากๆ เลยก็คือ "หม้อหุงข้าวคามาโดซัง" (Kamadosan) ที่ควบคุมอุณหภูมิได้เสถียรมาก และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเดือดเกินไปได้ด้วย

ทุกวันนี้ เครื่องอิงะได้ขยายวงการผลิตจากหม้อดินเหนียวไปสู่ชามข้าว ถ้วยชา เหยือกและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานได้ง่ายในทุกๆ วัน อีกทั้งยังมีหนังสือทำอาหารและคู่มือสำหรับเครื่องอิงะโดยเฉพาะอยู่เต็มไปหมดเพื่อให้คนที่สนใจสามารถใช้งานศิลปะโบราณชิ้นนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในเดือนกันยายนของทุกปี งานเทศกาลเครื่องอิงะ (Iga Ware Festival)* จะมีช่างปั้นจากเตาเผาราว 40 แห่งมาจัดแสดงเครื่องอิงะกว่า 30,000 ชิ้น การได้พูดคุยและใช้เวลาอยู่กับช่างฝีมือโดยตรงดึงดูดให้เหล่าคนรักเครื่องปั้นดินเผาทั่วประเทศกว่า 20,000 ชีวิตพากันมาหาของพิเศษกลับไปเติมในคอลเลคชั่นของตัวเอง

*งานเทศกาลประจำปี 2020 และ 2021 ถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

ผลิตภัณฑ์เครื่องอิงะแนะนำ

HYDRANGEA GLAZE BOWL SMALL

ที่มา: BECOS

มองจากภาพเพียงอย่างเดียวอาจจะบอกได้ยาก แต่ชามข้าวใบเล็กๆ นี้มีสีฟ้าจางๆ เคลือบอยู่เพื่อเพิ่มความเงา ชามใบนี้จึงเป็นหนึ่งในเครื่องปั้นสไตล์อิงะที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะเจาะ การออกแบบเป็นงานแฮนด์เมดที่เรียบง่ายทำให้คุณมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีถ้วยใบไหนเหมือนกันแน่นอน

ชามใบนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.22 นิ้ว x สูง 3.34 นิ้ว (15.8 x 8.5 ซม.)

ช้อปเลย!

BAKING FLOWER POT 210

ที่มา: BECOS

จานกระถางต้นไม้ขนาดกลางใบนี้ไม่ผ่านการเคลือบใดๆ และถูกเผาในเตาเผาไม้เพื่อให้เกิดดีไซน์ที่ดูหยาบๆ ทว่าซับซ้อน ด้วยรูปทรงที่บิดเบี้ยวซึ่งช่วยเพิ่มคาแรคเตอร์และความอบอุ่นให้กับจานใบนี้ งานทำมือแต่ละชิ้นจึงมีเอกลักษณ์ของตัวเองและเต็มไปด้วยรสนิยมและความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือ สีน้ำตาลอมแดงจางๆ นี้จะช่วยขับให้สีธรรมชาติของผักดูเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะมากสำหรับใช้เป็นจานสลัด! แน่นอนว่าความสามารถทางศิลปะระดับนี้ไม่สามารถทดแทนด้วยเครื่องจักรได้อย่างแน่นอน!

ช้อปเลย!

IGA HANAIRI

ที่มา: BECOS

แจกันที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์นี้จะปลุกเร้าทุกพื้นที่ด้วยสัมผัสของความงดงามแบบญี่ปุ่น ทั้งใบทำจากดินเหนียวอิงะที่ถูกขุดด้วยมือผสมกับการเคลือบแบบบิโดโระอันเป็นเอกลักษณ์ รอยไหม้ด้านนอกกับสีเลือดหมูก่อให้เกิดความอบอุ่น ดูติดดินแบบที่ใครได้เห็นก็ต้องชื่นชม ใครที่กำลังอยากทำห้องดื่มชาสไตล์ญี่ปุ่น หากเพิ่มงานฝีมือชิ้นนี้เข้าไปด้วย รับรองว่าเหมาะแน่นอน!

ช้อปเลย!

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คลิกที่นี่ เพื่อค้นหาเครื่องอิงะสวยๆ เพิ่มเติม!

▶ 5 ชุดชงชาที่ของมันต้องมีเพื่อสร้างประสบการณ์ดื่มชาแบบญี่ปุ่น

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCraft guide