"มาชิโกะยากิ" (益子焼) เป็นหนึ่งในงานฝีมือพื้นเมืองที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี ผลิตขึ้นที่เมืองมาชิโกะของจังหวัดโทชิกิ ทางตอนเหนือของภูมิภาคคันโต ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผารายใหญ่ของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีโรงปั้นอยู่กว่า 250 แห่ง มาชิโกะยากิเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีความหนา และโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่หลากหลายจากการเคลือบยูยาคุ (น้ำยาเคลือบเงา) ทับกันหลายชั้น
ประวัติของมาชิโกะยากิ
มาชิโกะยากิถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคเอโดะตอนปลายช่วงประมาณ ค.ศ. 1853 ในเมืองมาชิโกะของจังหวัดโทชิกิทางตอนเหนือของภูมิภาคคันโต กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ "โอทซึกะ เคซาบุโร" (大塚啓三郎) ที่เรียนวิชาการปั้นมาจากแคว้นคาซามะ (อิบารากิในปัจจุบัน) ที่อยู่ติดกัน ได้ย้ายมาอยู่ในเมืองมาชิโกะและค้นพบดินคุณภาพดี จึงเปิดโรงปั้นขึ้นโดยใช้ดินดังกล่าวเป็นวัสดุ
หลังจากนั้นก็ได้มีการเชิญช่างปั้นมาจากคาซามะ และเมื่อบวกกับการสนับสนุนจากทางแคว้นก็ทำให้การผลิตมาชิโกะยากิรุ่งเรืองขึ้นโดยเฉพาะในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ชาม จาน ไห และโอ่ง จนสามารถส่งสินค้าออกไปขายถึงเอโดะได้ (โตเกียวในปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ การผลิตสินค้าในปริมาณมากก็ส่งผลกระทบให้เกิดมาชิโกะยากิคุณภาพต่ำออกมามากมาย ในปีเมจิที่ 36 (ค.ศ. 1903) จึงมีการก่อตั้ง "สมาคมการค้าเครื่องปั้นมาชิโกะ" (益子陶器同業組合) รวมถึง "โรงฝึกทำเครื่องปั้นมาชิโกะ" (益子陶器伝習所) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างช่างฝีมือคุณภาพดีที่จะมาช่วยกู้ความน่าเชื่อถือของมาชิโกะยากิกลับมา
ในเวลาต่อมา แก้วและโลหะอย่างอะลูมิเนียมก็ถูกนำมาใช้ในการทำเครื่องครัว ส่งผลให้คนที่ต้องการมาชิโกะยากิลดจำนวนลง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่คันโตในปีไทโชที่ 12 (ค.ศ. 1923) ซึ่งทำให้บ้านหลายหลังในโตเกียวพังทลายลง จึงส่งผลให้เกิดความต้องการมาชิโกะยากิเพื่อทดแทนเครื่องครัวที่เสียไป ปริมาณออเดอร์จึงเพิ่มขึ้นสูงมากถึงขนาดที่ผลิตกันไม่ทันเลยทีเดียว
ฐานความนิยมมาชิโกะยากิในปัจจุบันมีที่มาจากการเคลื่อนไหวทางศิลปะมินเก (民藝運動 เป็นการแสวงหาความงดงามจากงานฝีมือที่ใช้ในชีวิตประจำวัน) ซึ่งนำโดยนักปรัชญา "ยานางิ มุเนโยชิ" (柳宗悦) และช่างปั้น "ฮามาดะ โชจิ" (濱田庄司) ที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1926 ของยุคโชวะ โดยเฉพาะฮามาดะที่เคลื่อนไหวอยู่ในเมืองมาชิโกะนั้น ได้สร้างมาชิโกะยากิที่เน้น "ความงดงามในการใช้งาน" อย่างถึงที่สุด ส่งผลให้มาชิโกะยากิค่อยๆ มีชื่อเสียงขึ้นในฐานะงานศิลปะอย่างหนึ่ง แนวคิดนี้ของฮามาดะมีอิทธิพลต่อช่างปั้นรุ่นใหม่ๆ จนพัฒนาขึ้นเป็นมาชิโกะยากิที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในปีโชวะที่ 26 (ค.ศ. 1951) ก็ได้มีการก่อตั้ง "สมาคมเครื่องปั้นดินเผาแห่งจังหวัดโทชิกิ" (栃木県陶磁器製土工業組合) ขึ้นในจังหวัดโทชิกิ เมื่อเข้าสู่ยุคเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังสงคราม แรงงานที่รวมตัวกันอยู่ในเขตเมืองก็เริ่มคิดถึงบ้านเกิดและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ส่งผลให้เกิดกระแสงานฝีมือพื้นบ้านขึ้นในครึ่งหลังของยุค 1950 ยาวไปถึงยุค 1970 และในปีโชวะที่ 54 (ค.ศ. 1979) มาชิโกะยากิก็ได้รับการกำหนดให้เป็นงานฝีมือญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม และในปัจจุบันก็มีโรงผลิตอยู่กว่า 250 แห่ง
ลักษณะเด่นของมาชิโกะยากิ
มาชิโกะยากิมีจุดเด่นอยู่ที่ "ผิวสัมผัสแบบดิน" เนื่องจากดินที่ใช้ทำมาชิโกะยากิเป็นดินที่ขรุขระ หยาบ และไม่ค่อยเหนียว มีคุณสมบัติขึ้นรูปง่ายและทนต่อความร้อน ดินหยาบๆ ของเมืองมาชิโกะนี้ไม่เหมาะกับงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน และเมื่อทำออกมาก็มีรูปร่างที่อ้วนหนา แต่ก็ช่วยให้ผู้ใช้จับได้ถนัดมือ และยังมาพร้อมกับความรู้สึกอบอุ่นและผิวสัมผัสที่ละมุนมือด้วย
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของมาชิโกะยากิ คือ การใช้ยูยาคุหรือน้ำยาเคลือบจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นยูยาคุธรรมชาติ เช่น คาคิยู (柿釉) โคคุยู (黒釉) หรือนูกะจิโรยู (糠白釉) ที่ทำจากขี้เถ้าของรำข้าวหรือฟาง แม้จะมีความอบอุ่นแต่ก็ไม่หนักจนเกินไป แต่งเติมผิวสัมผัสของเครื่องปั้นให้สดชื่นขึ้นได้อย่างน่าประหลาด และยังสามารถทำดูสดใสยิ่งขึ้นด้วยการเติมเฉดสีของอาเมะยู (飴釉) หรือเซจิยู (青磁釉) ที่มีสีเขียวหยก
หลังจากขึ้นรูปด้วยเครื่องกลึง แม่พิมพ์ หรือการปั้นมือแล้วก็จะนำไปตกแต่งแบบง่ายๆ ด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น วาดลายด้วยหวีหรือพู่กัน หรือไม่ก็สลักให้เป็นร่องด้วยกบไสไม้
ด้วยวิธีการเช่นนี้ ประกอบกับช่างปั้นในยุคต่างๆ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน มาชิโกะยากิจึงมีหน้าตาที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ยึดตามนิยามศิลปะมินเกของฮามาดะ หรือการสร้างสรรค์ผลงานแบบฟรีสไตล์ จนกล่าวได้ว่าสไตล์ที่หลากหลายนี้เองที่เป็นลักษณะเด่นของมาชิโกะยากิในปัจจุบัน
มาชิโกะยากิในปัจจุบัน
หากต้องการรู้จักช่างปั้นมาชิโกะยากิ เราขอแนะนำให้ลองไปชม "ตลาดเครื่องปั้นมาชิโกะ (*)" (益子の陶器市) อีเวนต์ใหญ่ที่จัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วงของทุกปี มีผู้เข้าชมรวมกว่า 600,000 คน งานนี้เป็นสถานที่ที่คุณจะได้รู้เรื่องราวของมาชิโกะยากิในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลงานของเหล่าช่างปั้นรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญ ภายในเมืองจะเรียงรายไปด้วยร้านขายมาชิโกะยากิและเต็นท์ของช่างปั้นกว่า 500 ร้าน อีกทั้งยังมีมาชิโกะยากิราคาประหยัดให้เลือกหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ของใช้ไปจนถึงของตกแต่ง
ในระยะหลังมานี้ ภาชนะที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยม และด้วยโทนสีที่อ่อนโยนและเป็นธรรมชาติก็ทำให้มาชิโกะยากิเข้ากับอาหารได้ดีมาก
* อีเวนต์ปี 2020 ถูกยกเลิกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่วนในปี 2021 รอบฤดูใบไม้ผลิเปลี่ยนมาจัดผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ "ตลาดเครื่องปั้นมาชิโกะออนไลน์" (益子WEB陶器市) ในวันที่ 29 เมษายน - 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาแทน ยังไม่มีกำหนดการสำหรับอีเวนต์ฤดูใบไม้ร่วง
ตลาดเครื่องปั้นมาชิโกะ (ภาษาญี่ปุ่น): http://www.town.mashiko.tochigi.jp/page/page000110.html
ตลาดเครื่องปั้นมาชิโกะออนไลน์ (ภาษาญี่ปุ่น): https://toukiichi.mashiko.online/
นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายเก่าก็มีความพยายามที่แปลกใหม่อยู่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น "Tsukamoto" (つかもと) ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ที่เปิดกิจการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1864 และเป็นผู้ผลิตหม้อที่ใช้ใน "โทเกะ โนะ คามะเมชิ" (峠の釜めし) เมนูข้าวกล่องสถานีอันโด่งดัง เดิมทีเป็นโรงปั้นรายใหญ่ที่สุดของเมืองมาชิโกะ แต่ได้เปลี่ยนมาผลิตมาชิโกะยากิในคอนเซปต์หม้อดินเผาสำหรับรับประทานคนเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการในยุคปัจจุบัน
สินค้ายอดนิยมอีกอย่างหนึ่ง คือ ผลงานชุด "Shabby Turquoise" (シャビーターコイズ) ของ Wakasama Pottery (わかさま陶芸) ที่มาในโทนสีน้ำทะเลและดูเหมือนผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน เป็นรูปลักษณ์ที่เข้ากับอาหารเอเชียได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีมาชิโกะลายจุดน่ารักๆ ที่ทำเลียนแบบถ้วยชามของยุโรปตอนเหนือ และมาชิโกะยากิที่สามารถใช้กับไมโครเวฟหรือเครื่องล้างจานได้ด้วย ถึงตรงนี้ก็คงจะเห็นกันแล้วว่าทางร้านได้มีการพัฒนาปรับปรุงในหลายๆ ด้านเพื่อผลิตมาชิโกะยากิที่สามารถใช้ได้กับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
สินค้าแนะนำ!
Wakasama Pottery (เซ็ต 2 ใบ) Made in Japan | มาชิโกะยากิ
แก้วกาแฟจากแบรนด์ดัง Wakasama Pottery ที่เราได้กล่าวถึงไปเมื่อสักครู่ เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศในสไตล์ย้อนยุคที่ดูอบอุ่น จำหน่ายแบบเซ็ต 2 ใบในสีเดียวกัน มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ Tsuta (สีออกแดงจากการเผา) Green และ Powder (สีขาวผงแป้ง) นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบที่นำ 3 สีมาเปรียบเทียบกันด้วย หากใครที่สนใจก็สามารถเข้าไปชมได้
Gosu MOOMIN x Amabro MASHIKO POTTERY-GLAZE- BOX SET (เซ็ต 5 ใบ) | มาชิโกะยากิ
เซ็ตจาน 5 ใบที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างมูมินกับแบรนด์มาชิโกะยากิ "Amabro" งานคอลแลบส์ที่อิสระเช่นนี้นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมาชิโกะยากิ และนับว่าเป็นสุดยอดสินค้าที่เหล่าแฟนๆ มูมินไม่ควรพลาด เนื่องจากขายดีมาก เราจึงขอแนะนำให้รีบซื้อ
Nisai TN-16 Bran Blue เส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. | มาชิโกะยากิ
ซีรีย์จานใหญ่แบบนิไซ (二彩 การเคลือบโดยใช้ยูยาคุ 2 สีที่แตกต่างกัน) ของ "Tsukamoto" โรงปั้นมาชิโกะยากิที่ใหญ่ที่สุด เป็นการจับคู่กันระหว่าง 2 สีที่ดูน่ารัก มีทั้งแบบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 ซม. 13 ซม. 15.7 ซม. และ 18.6 ซม. งานนี้จะเป็นการเคลือบแบบแฮนด์เมดใบต่อใบด้วยมือของผู้เชี่ยวชาญ สามารถจับคู่กับอาหารได้หลากหลายเมนู
บทความที่เกี่ยวข้อง:
▶ 9 แบรนด์ถ้วยชามญี่ปุ่นน่าใช้ในวันพิเศษ
▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ