"มิโนะยากิ" (美濃焼) เป็นเครื่องเคลือบชนิดหนึ่ง ได้รับการยกย่องให้เป็นงานฝีมือดั้งเดิมโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มีแหล่งผลิตอยู่ในจังหวัดกิฟุ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 1,300 ปี แต่เดิมเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า "ซุเอะยากิ" (須恵器) แต่ในภายหลังก็ได้มีการผลิตเครื่องเคลือบเซรามิกตามมา
ถึงแม้จะมีการบันทึกไว้ว่ามิโนะยากิได้รับความนิยมในฐานะภาชนะดื่มชา แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของมันกลับเป็นรูปแบบอันหลากหลาย โดยแบบที่นับเป็นงานฝีมือดั้งเดิมนั้นมีมากถึง 15 ชนิดเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ การทำเครื่องเคลือบมิโนะยากิจึงมีทั้งเทคนิคและดีไซน์ต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีการคิดค้นรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติของมิโนะยากิ
มิโนะยากิเป็นเครื่องเคลือบที่มีแหล่งผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดกิฟุ หรือก็คือแถบเมืองทาจิมิ เมืองโทกิ และเมืองคานิในปัจจุบัน ถือกำเนิดขึ้นประมาณช่วงศตวรรษที่ 5 หลังจากที่มีการนำวงล้อโรคุโระ (ろくろ) ของช่างปั้นและเตาเผาอานากามะ (穴窯) เข้ามาจากคาบสมุทรเกาหลี
ในศตวรรษที่ 10 เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางยุคเฮอันก็เริ่มปรากฏมิโนะยากิสีขาวที่ดูคล้ายคลึงกับเครื่องเคลือบของจีน อีกทั้งยังมีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการถวายเครื่องปั้นนี้ให้จักรพรรดิญี่ปุ่นด้วย
จากนั้นในช่วงปลายยุคมูโรมาจิซึ่งอยู่ราวๆ ค.ศ. 1500 ก็มีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณรอบมิโนะ และมีการคิดค้นปรับปรุงเทคนิคการทำสีของเครื่องเคลือบเรื่อยมา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 - 17 ซึ่งเป็นช่วงยุคอาซึจิ - โมโมยามะไปจนถึงต้นยุคเอโดะ มิโนะยากิก็ได้เฟื่องฟูขึ้นจนถึงขีดสุด
เมื่อโอดะ โนบุนากะ (織田信長) ขึ้นปกครองมิโนะใน ค.ศ. 1567 เทคนิคที่บรรดาช่างฝีมือใช้ทำเครื่องปั้นก็ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น และในอีกด้านหนึ่ง พิธีชงชาที่นำโดยกลุ่มของเซนโนะริคิว (千利休) และฟุรุตะ โอริเบะ (古田織部) ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้มีอำนาจในสมัยนั้นและเริ่มเป็นกระแสขึ้นมา
มิโนะยากิเป็นเครื่องปั้นที่ถูกนำไปใช้เป็นภาชนะและอุปกรณ์ในพิธีชงชาดังกล่าว นอกจากนี้ มิโนะยากิที่เด่นๆ อย่าง "ไฮชิโนะ" (灰志野), "ชิโนะ" (志野), "โอริเบะ" (織部), "คิเซโตะ" (黄瀬戸) และ "เซโตะกุโระ" (瀬戸黒) ก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน
เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคเอโดะใน ค.ศ. 1603 ญี่ปุ่นก็เริ่มมีการผลิตภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันจำพวกจาน ชาม ขวดสาเก รวมถึงเซรามิกขาวและเครื่องลายครามที่ดูคล้ายกับเครื่องเคลือบของจีนด้วย
จากนั้น ตั้งแต่ยุคเมจิ ค.ศ. 1868 เป็นต้นมา เทคนิคการย้อมสีของมิโนะยากิก็เสถียรยิ่งขึ้นเนื่องจากมีการใช้สีย้อมนำเข้า อีกทั้งยังมีเทคนิคใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมกำลังการผลิตให้สูงขึ้นอย่างการพิมพ์ภาพด้วยแผ่นทองแดง หรือการพิมพ์สกรีนด้วย
เรื่องทั้งหมดนี้ส่งผลให้มิโนะยากิได้รับการรับรองเป็นงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1978 และปัจจุบันก็ครองอันดับ 1 ในด้านจำนวนการผลิตในประเทศญี่ปุ่น โดยกินสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
จุดเด่นของมิโนะยากิ
อย่างที่บอกไปแล้วว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของมิโนะยากิ คือ ความหลากหลาย เพราะเครื่องปั้นชนิดนี้มีมากถึง 15 รูปแบบ ซึ่งทุกแบบก็ได้รับการรับรองเป็นงานฝีมือญี่ปุ่นดั้งเดิมทั้งหมด
ตัวอย่างของรูปแบบทั่วไป เช่น "โอริเบะ" ที่สร้างขึ้นตามสุนทรียภาพของฟุรุตะ โอริเบะ ผู้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ชาที่ชื่อ เซนโนะริคิว เครื่องปั้นโอริเบะปรากฏขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 - 17 ในยุคอาซึจิ - โมโมยามะ นับเป็นเครื่องเคลือบที่แปลกใหม่และมีเสน่ห์ด้วยรูปทรงที่บิดเบี้ยวและลวดลายเรขาคณิตสีเขียวดูลุ่มลึก
โอริเบะได้รับความนิยมจากผู้คนทั้งในและนอกประเทศในฐานะของตกแต่ง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้เสิร์ฟอาหารเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูเรียบง่ายขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเชฟชื่อดัง
"ชิโนะ" เป็นเครื่องปั้นที่ปรากฏให้เห็นในยุคเดียวกัน ผลิตโดยเริ่มจากการวาดลวดลายลงบนชิ้นงานก่อน จากนั้นจึงนำไปเคลือบน้ำยาเพื่อให้มีสีสันขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ลวดลายสีแดงเพลิงที่แต่งแต้มอยู่บนพื้นสีขาวดูสวยงามนี้เกิดจากการเคลือบน้ำยาที่เรียกว่า "โจเซคิยู" (長石釉) ลงไป ทำให้เกิดฟองอากาศขนาดเล็กซึ่งเป็นผิวสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติ จากนั้นเมื่อนำไปเผา สีของลวดลายก็จะเปลี่ยนไปเป็นสีดำ น้ำตาล แดง หรือเทาตามอุณหภูมิที่ใช้ด้วย
ชิโนะถือเป็นเครื่องปั้นมิโนะยากิที่ได้รับความนิยมในฐานะอุปกรณ์ชงชา แจกันดอกไม้ ชาม ขวดสาเก จอกเหล้า และตลับเครื่องหอม
ส่วน "คิเซโตะ" ที่เคลือบด้วยน้ำยาสีเหล็กจะมีรูปร่างหน้าตาที่เรียบง่าย และมีสีเหลืองอันอบอุ่นเป็นจุดเด่น ส่วนลวดลายจะเป็นสีเขียวเข้มที่ได้จากการใช้น้ำยาสีทองแดง นอกจากอุปกรณ์ชงชาแล้วก็ยังมีการผลิตคิเซโตะเป็นจาน ชาม หม้อ และแจกันดอกไม้ด้วย
มิโนะยากิในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน วัฒนธรรมมิโนะยากิได้รับการอนุรักษ์ในเขตเมืองทาจิมิ เมืองโทกิ และเมืองมิซูนามิของจังหวัดกิฟุเป็นหลัก ถึงแม้จะมีการผลิตสูงที่สุดในกลุ่มเครื่องเซรามิก แต่มิโนะยากิก็ยังคงประสบปัญหาเรื่องช่างฝีมือที่ค่อยๆ แก่ตัวลงและขาดแคลนผู้สืบทอด อีกทั้งยังเริ่มขาดแคลนดินเหนียวซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการผลิตชิ้นงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่าพันปีด้วย
เดิมที จุดเด่นของมิโนะยากิอยู่ที่ความมีอิสระและการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดเครื่องปั้นดินเผาที่มีกลิ่นอายของแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา
แม้แต่ในทุกวันนี้ก็มีช่างปั้นอายุน้อยจำนวนมากที่รวมกลุ่มกันจัดทำเวิร์กช็อปเพื่อสาธิตวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาและลงมือทำจริง เป็นการส่งต่อเสน่ห์ของมิโนะยากิในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนให้คงอยู่สืบไป
การเคลื่อนไหวของช่างฝีมือเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารท้องถิ่น Tono Shinkin ซึ่งช่วยประสานงานกับทีมงานของเตาเผาแต่ละแห่ง ให้ความร่วมมือในการทำวิจัยแบรนดิ้งของมิโนะยากิ รวมถึงวางแผนและจัดงาน "เทศกาลมิโนะยากิ*" (美濃焼祭) ขึ้น ณ บริเวณสถานีทาจิมิในช่วงกลางเดือนตุลาคมของทุกปีด้วย
ความร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มช่างฝีมือรุ่นเยาว์และหน่วยงานในท้องถิ่นเหล่านี้ทำให้มิโนะยากิกลายเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากกว่าเดิมในที่สุด
* เทศกาลมิโนะยากิประจำปี 2020 ถูกยกเลิกเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีแผนจะจัดขึ้นอีกครั้งในปี 2021
สินค้าแนะนำ!
SHUN JAPAN ชุดแก้วคู่ลายซากุระสำหรับเครื่องดื่มเย็น | มิโนะยากิ
ชุดแก้วลายซากุระใน "ซีรี่ส์เครื่องดื่มเย็น" (冷感シリーズ) อันโด่งดังของแบรนด์ Marumo Takagi หากเทเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียสลงไปก็จะได้เห็นภาพดอกซากุระสีสันสดใสที่ค่อยๆ เบ่งบานอย่างสวยงาม ตัวแก้วมีขนาดพอดีมือ สามารถใส่ได้ทั้งสาเกและเครื่องดื่มใสชนิดอื่นๆ
นอกจากลายซากุระซึ่งเป็นธีมฤดูใบไม้ผลิแล้วก็ยังมีแก้วในธีมฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วงด้วย หากคุณสนใจผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเครื่องดื่มร้อน แบรนด์นี้ก็มีแก้วมัคใน "ซีรี่ส์เครื่องดื่มร้อน" (温感シリーズ) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกัน
https://en.thebecos.com/collections/marumo-takagi/products/s0111-004
SHUN JAPAN ถ้วยชา 4 ฤดู สำหรับเครื่องดื่มร้อน (ลายซากุระ) | มิโนะยากิ
ถ้วยชาในซีรี่ส์เครื่องดื่มร้อนจากแบรนด์ Marumo Takagi เช่นเดียวกับสินค้าตัวบน หากคุณเทเครื่องดื่มร้อนลงในแก้วใบนี้ ลวดลายที่เคยมีเพียงกิ่งก้านสีดำบนพื้นเซรามิกสีขาวก็จะมีดอกซากุระปรากฏขึ้นอย่างสวยงาม นอกจากถ้วยน้ำชาแล้วก็ยังมีแก้วรูปแบบอื่นอย่างแก้วมัคด้วย หากใครสนใจก็สามารถตามไปดูได้ในลิงก์ด้านล่าง
https://en.thebecos.com/products/s0111-037
▶ ดูสินค้าอื่นๆ จากแบรนด์ Matumo Takagi
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ