เครื่องปั้นดินเผา "ยคไคจิ บันโกะยากิ" (四日市萬古焼) มีแหล่งผลิตหลักอยู่ในเมืองยคไคจิ จังหวัดมิเอะ มีจุดเด่นในเรื่องการทนความร้อน ถึงขนาดที่คุณสามารถนำไปตั้งบนเปลวไฟได้ตรงๆ เลย ดังนั้น 80% ของหม้อดินที่ผลิตในญี่ปุ่นจึงล้วนเป็นเครื่องปั้นดินเผายคไคจิ บันโกะยากิทั้งสิ้น อีกทั้งเครื่องปั้นชนิดนี้ยังทำด้วยดิน "ชิเดอิ" (紫泥 Shidei) ซึ่งมีธาตุเหล็กปริมาณสูง จึงสามารถทำให้น้ำชาที่ใส่ลงไปมีรสชาตินุ่มนวลยิ่งขึ้นได้ และยิ่งคุณใช้ไปนานเท่าไร ตัวภาชนะก็จะยิ่งดูแวววาวมากขึ้นด้วย ดังนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านไป คุณก็ยังสามารถชื่นชมตัววัสดุได้อยู่! นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังได้กำหนดเครื่องปั้นดินเผายคไคจิ บันโกะยากิ ให้เป็นหนึ่งในงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นด้วย
ประวัติเครื่องปั้นดินเผา "ยคไคจิ บันโกะยากิ"
เครื่องปั้นดินเผายคไคจิ บันโกะยากิ (Yokkaichi-Bankoyaki) มาจากเมืองยคไคจิ จังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกาน้ำชา (急須 Kyusu) และหม้อดิน (土鍋 Donabe) ที่มีชื่อเสียงมากๆ โดยเฉพาะหม้อบันโกะยากิที่มีส่วนแบ่งการผลิตในประเทศอยู่กว่า 80% เนื่องจากที่นี่ใช้ดินเหนียวทนความร้อนในการผลิต จึงทำให้หม้อมีคุณสมบัติทนความร้อนสูง สามารถนำไปโดนเปลวไฟตรงๆ หรือจะเผาหม้อเปล่าโดยตรงเลยก็ยังได้
นอกจากนี้ ดินเหนียว "ชิเดอิ" ที่นำมาทำกาน้ำชาบันโกะยากิยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ยิ่งคุณใช้ไปนานเท่าไร พื้นผิวก็ยิ่งดูมันวาวขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้กาน้ำชานี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของบันโกะยากินั้นได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้านามว่า"นุมามิ โรซัน" (沼波弄山) แห่งเมืองคุวานะ (จังหวัดมิเอะในปัจจุบัน) ที่ชื่นชอบพิธีชงชาเป็นพิเศษ เขาสร้างเตาเผาสำหรับผลิตอุปกรณ์ชงชาขึ้นในปี 1736 - 1740 ในย่านโอบุเกะ เมืองอาซาฮิ (จังหวัดมิเอะในปัจจุบัน) ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องปั้นบันโกะยากิ ผลงานของนุมามินั้น ถูกเรียกว่า "โคบังโกะ" (古萬古) เนื่องจากมีลวดลายและรูปทรงที่แปลกตา นุมามิตั้งใจจะให้เครื่องปั้นดินเผาที่ตนทำขึ้นนั้นคงอยู่ตลอดไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงประทับตราคำว่า “萬古不易” ซึ่งแปลว่า "คงอยู่ไม่แปรผัน" ลงไป และคำนี้ก็เป็นที่มาของชื่อของบันโกะยากิที่เรารู้จักกันนั่นเอง
นุมามิเสียชีวิตลงในปี 1777 โดยปราศจากทายาท ทำให้เครื่องปั้นบันโกะยากิหายไปอยู่พักหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในยุคเอโดะตอนปลาย (ค.ศ. 1832) สองพี่น้องนามว่า โมริ ยูเซตสึ (森有節) และ เซ็นชุ (千秋) ซึ่งเป็นคนขายของเก่าในเมืองคุวานะก็ได้สร้างเตาเผาขึ้นใหม่ขึ้นในโอบุเคะ และเริ่มฟื้นฟูเครื่องปั้นดินเผาบันโกะยากิ ในช่วงแรกก็นิยมสร้างเลียนแบบสิ่งที่นุมามิได้เคยสร้างไว้ แต่หลังจากนั้น โมริ ยูเซตสึก็เริ่มสร้างสไตล์ของตนเองขึ้นมา เครื่องปั้นดินเผาของเขาถูกเรียกว่า "ยูเซ็ตสึบันโกะ" (有節萬古)
เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ยามานากะ ชูซาเอมอน (山中忠左衛門) ก็ได้สร้างเตาเผาขึ้นในหมู่บ้านซูเอะนากะ (ปัจจุบันคือย่านซูเอะนากะ เมืองยคไคจิ จังหวัดมิเอะ) นอกจากนี้ เมืองยคไคจิเองก็มีท่าเรืออยู่ด้วย ทำให้เครื่องปั้นดินเผาบันโกะยากิแพร่หลายไปตามภูมิภาคต่างๆ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ
ในยุคเมจิตอนปลาย (ค.ศ. 1911) มิซุทานิ โทราจิโร่ (水谷寅次郎) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบกึ่งพอร์ซเลน (Semi-porcelain) โดยมีต้นแบบมาจากเครื่องปั้นดินเผาของอังกฤษ การผลิตแบบกึ่งพอร์ซเลนนี้ มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า "ฮันจิคิ" (半磁器) เป็นการคงความนุ่มนวลของเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งใช้ดินเป็นองค์ประกอบหลักไว้ แล้วเสริมความแข็งแรงด้วยพอร์ซเลน (เครื่องลายครามที่ใช้หินแก้วเป็นส่วนประกอบหลัก) เพื่อให้ได้เครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เครื่องปั้นดินเผากึ่งพอร์ซเลนนี้ได้รับชื่อว่า "ไทโชยากิ" (大正焼) เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการเปลี่ยนศักราชจากยุคเมจิเป็นไทโช ในปี 1912 นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาล้อของช่างปั้นหม้อ (จานหมุนที่ใช้ปั้นรูปร่าง) และเทคโนโลยีการหล่อปูนปลาสเตอร์ (เทดินเหนียวลงในแม่พิมพ์) ซึ่งทำให้สามารถผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้ทีละจำนวนมากๆ จนภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหารต่างๆ ของบันโกะยากิได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็เริ่มมีการผลิตเครื่องปั้นบันโกะยากิเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ นอกเหนือจากอุปกรณ์ชงชาด้วย
เอกลักษณ์ของ "ยคไคจิ บันโกะยากิ"
จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของบันโกะยากิ คือ ทนความร้อน โดยตัววัสดุที่ใช้ผลิตหม้อดินเผานั้น มีส่วนผสมของดินเหนียวที่มีแร่ลิเธียมซึ่งทนความร้อนได้ดีอยู่ถึง 40 - 50% ดังนั้น หม้อดินชนิดนี้จึงสามารถโดนไฟได้โดยตรง หรือแม้แต่การเผาแห้ง (การนำภาชนะไปโดนความร้อนโดยไม่มีของเหลวอยู่ภายใน) ก็ได้เช่นกัน
บันโกะยากิไม่ได้มีชื่อเสียงในเรื่องหม้อดินเท่านั้น แต่กาน้ำชาก็ยังได้รับความนิยมสูงด้วย เพราะกาน้ำชาบันโกะยากิทำจากดินเหนียวที่มีธาตุเหล็ก และใช้กรรมวิธีการเผาแบบ Reduction (還元焼成) เพื่อไม่ให้ตัวเครื่องปั้นเกิดปฏิกิริยาออกซิไดซ์ วิธีนี้จะทำให้ตัวกาดูดซับรสฝาดของน้ำชาได้ และทำให้น้ำชามีรสสัมผัสที่อ่อนนุ่มขึ้น โดยปกติกาน้ำชาจะไม่ได้มีลวดลายหรือเคลือบอะไรมากนัก แต่ก็มักจะเข้ากับบรรยากาศอบอุ่นของการจิบชาได้อย่างดี
"ยคไคจิ บันโกะยากิ" ในปัจจุบัน
บันโกะยากิในปัจจุบันถือเป็นหม้อดินที่มีการผลิตมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 80% นอกจากนี้ ในปี 1979 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ก็ได้จัดบันโกะยากิให้เป็นหนึ่งในงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น แถมยังมีการสร้างมาสคอตบันโกะยากิประจำท้องถิ่นสำหรับใช้โฆษณาด้วย นอกจากนี้ก็มีการติดตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนเป็นบันโกะยากิของแท้ เพื่อแยกตัวแบรนด์จากของที่ผลิตในต่างประเทศและของเลียนแบบด้วย
นับตั้งแต่ปี 2016 เมืองโคโมโนะโจ (Komono-cho) จังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการผลิตบันโกะยากิได้ร่วมมือกับทางภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดงาน "Komo Gaku" ให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้าร่วม ในงานนี้ ผู้ชมจะสามารถลองทำเวิร์กช็อปกับช่างฝีมือบันโกะยากิ และรับฟังความคิดความเห็นของพวกเขาไปพร้อมกันได้
ทางเมืองยคไคจิได้พยายามคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ หาผู้สืบทอด และจัดงานกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ "บันโกะยากิ" เพื่อให้วัฒนธรรมนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันก็ไม่ได้มีเพียงสินค้าประเภทหม้อดินและกาน้ำชาเท่านั้น แต่ยังมีอุปกรณ์ประกอบอาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน และสินค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ อีกมากมายด้วย
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ