ว่ากันว่า “เซนซุ” (Sensu) หรือพัดพับได้นี้มีต้นกำเนิดอยู่ในญี่ปุ่น และในบรรดาเซนซุที่มีอยู่มากมายนั้น “เกียวเซนซุ” (Kyo-Sensu) ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นงานฝีมือญี่ปุ่นโบราณ ด้วยประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 1,200 ปี พัดเหล่านี้ได้รับความนิยมมากในฐานะของฝากจากเกียวโต แต่ก็มีข้อมูลบางอย่างที่คุณควรรู้ไว้ก่อนเลือกซื้อ เช่น ที่ไปที่มาและจุดเด่นของพัดประเภทนี้ มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรเกี่ยวกับพัดเซนซูที่คุณควรรู้บ้าง
ประวัติของพัดเกียวเซนซุ
เชื่อกันว่าเซนซุนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ในญี่ปุ่น ย้อนไปเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว ที่เกียวโตในช่วงต้นยุคเฮอัน (ประมาณปี ค.ศ. 800) เชื่อว่าเซนซุยุคแรกๆ คือ พัด “ฮิโอกิ" (Hiogi)” ซึ่งทำขึ้นที่เกียวโต พัดนี้ทำจาก “มอคคัง” (Mokkan) แท่งไม้บางๆ ยาวประมาณ 30 ซม. ซึ่งใช้สำหรับจดบันทึกแทนกระดาษซึ่งเป็นของมีค่าในยุคนั้น พัดพับได้ที่เก่าแก่ที่สุด คือ ฮิโอกิจากปี ค.ศ. 877 ซึ่งพบอยู่ในมือของเทวรูปเซนจุคันนงของวัดโทจิในเกียวโต จากนั้นเซนซุก็กลายเป็นสิ่งของคู่กายของผู้ชายในวังหลวง ซึ่งธรรมเนียมนี้ก็ได้แพร่ไปถึงพวกหญิงชาววังในเวลาต่อมา โดยหญิงชาววังกลุ่มนี้เองก็เริ่มตกแต่งพัดด้วยภาพพิมพ์และภาพวาด เปลี่ยนมันให้กลายเป็นเซนซุที่สง่างามดังที่เห็นในภาพด้านบน
ในช่วงกลางยุคเฮอัน (ประมาณปี ค.ศ. 900) เซนซุที่เรียกว่า “คาวาโฮริโอกิ (Kawahoriogi)” หรือ “คาวาโฮริเซน (Kawahorisen)” ซึ่งเป็นพัดที่เวลากางออกมาแล้วมีลักษณะคล้ายกับปีกค้างคาวดังที่เห็นในรูปด้านบนก็ได้ถูกผลิตขึ้นมา วิธีที่ใช้ในการสร้างยังคงเรียบง่าย โดยมีก้านพัดที่เรียกว่า “เซนคตสึ (Senkotsu)” หรือ “โอกิโบเนะ (Ogibone)” บางๆ เพียง 5 แท่ง และติดกระดาษไว้เพียงด้านเดียว นอกจากนี้ เนื่องจากในยุคนั้นเซนซุได้ถูกจำกัดการใช้ไว้เฉพาะในวัง ในหมู่ชนชั้นสูง หรือใช้เป็นเครื่องมือประกอบพิธีกรรมของพระและนักบวชเท่านั้น ส่งผลให้คนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พัดเหล่านี้
สถานการณ์ได้พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือในยุคมุโรมาจิ (ค.ศ. 1336 - 1573) ก่อนหน้านี้ในยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1185 - 1333) เซนซุได้ถูกส่งออกไปจีน เมื่อเซนซุไปถึงจีนก็ได้มีการเปลี่ยนดีไซน์เป็นแบบติดกระดาษทั้ง 2 ด้าน พัดใหม่เหล่านี้ถูกส่งกลับมาขายที่ญี่ปุ่นในยุคมุโรมาจิ ภายใต้ชื่อ “คาราโอกิ (Karaogi)” หรือ “พัดจีน” (ในยุคนั้นญี่ปุ่นเรียกจีนว่า “โท” หรือ “คาระ”) ด้วยเหตุนี้เอง เซนซุที่เดิมมีกระดาษเพียงด้านเดียวจึงได้รับเอาสไตล์ของจีนที่จะติดกระดาษทั้ง 2 ด้านมาด้วย ในขณะเดียวกัน บุคคลทั่วไปก็ได้รับอนุญาตให้ใช้เซนซุได้ และมีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น เช่น ในละครโนและพิธีชงชาญี่ปุ่น
ทักษะและอุตสาหกรรมเบื้องหลังเกียวเซนซุได้มีความสำคัญเป็นพิเศษในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) ถึงขนาดที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล และกลายเป็นของที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเลยทีเดียว
นับแต่นั้นมา เกียวเซนซุก็ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในทุกวันนี้ก็ยังมีการพัฒนาให้เห็นอยู่เช่นกัน
ลักษณะเด่นของพัดเกียวเซนซุ
พัดเกียวเซนซุที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนี้มีอยู่หลายประเภท ตั้งแต่พัดที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงพัดสำหรับใช้ในพิธีกรรม ตัวอย่างเช่น “นัตสึเซนซุ (Natsu-Sensu)” พัดหน้าร้อนที่ให้ความเย็นได้ในทุกฤดูกาล “ไมเซนซุ (Mai-Sensu)” พัดที่ใช้ในระบำญี่ปุ่นโบราณ “ชิไมเซนซุ (Shimai-Sensu)” พัดประดับดีไซน์โอ่อ่าสำหรับละครโน และ “กิชิคิโยเซนซุ (Gishikiyo-Sensu)” พัดที่ใช้ในพิธีการต่างๆ อย่างงานแต่งงาน
นอกจากนี้ พัดเกียวเซนซุจะต่างจาก “เอโดะเซนซุ (Edo-Sensu)” ซึ่งเป็นพัดชื่อดังของโตเกียวที่ทำโดยช่างฝีมือคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ พัดเกียวเซนซุนั้นจะทำโดยช่างฝีมือหลายคนซึ่งจะแบ่งกันรับผิดชอบขั้นตอนต่างๆ ในการทำพัดซึ่งมีทั้งหมด 87 ขั้นตอน
พัดที่สามารถเรียกว่าเกียวเซนซุได้จำเป็นต้องผ่าน 3 เกณฑ์ดังนี้:
1) ต้องผลิตจากวัสดุที่มาจากเกียวโต (ส่วนพื้นผิว) และชิกะ (ไม้ไผ่)
2) ต้องผลิตที่เกียวโต
3) ต้องผลิตโดยผู้ผลิตที่เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมพัดกลมและพัดพับเกียวโตเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม
เกียวเซนซุในปัจจุบัน
พัดเกียวเซนซุและเทคนิคการผลิตนั้นยังคงเดิมไว้ตลอด 1,200 ปีที่ผ่านมา และรูปลักษณ์ที่สง่างามของเกียวเซนซุก็ยังคงเข้ากันได้ดีกับสังคมยุคปัจจุบันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เหล่าช่างฝีมือยังได้พยายามสร้างพัดที่แปลกใหม่ขึ้น โดยอาศัยเทคนิคดังกล่าวเป็นพื้นฐาน เช่น การร่วมมือกับอนิเมะชื่อดัง หรือแม้แต่จำหน่ายน้ำหอม (ในรูปด้านบน) ที่ใช้ก้านพัดเป็นเครื่องประดับ
▶ คลิกที่นี่เพื่อเลือกดูรายการ พัดเกียวเซนซุ ที่สวยงาม
ผลิตภัณฑ์ที่เราขอแนะนำ
WoMen's Silk Fan Unryu Paper Butterfly Blue | เกียวเซนซุ ราคา
เกียวเซนซุที่ทั้งสง่างามและน่ารักในเวลาเดียวกัน มาพร้อมกับผีเสื้อสีน้ำเงินสดที่โบยบินอยู่ตรงกลาง พื้นผิวของพัดทำขึ้นจากไหมแท้และใยสังเคราะห์ มีขนาดที่พอดีสำหรับสาวๆ ทุกคน
WoMen's Silk Fan Chaji Nadeshiko Daishokuchi | เกียวเซนซุ ราคา
พัดเกียวเซนซุที่ทำขึ้นอย่างประณีต ตกแต่งด้วยภาพดอกไม้เล็กๆ ดูน่ารัก เหมาะมากสำหรับหญิงสาว
*สินค้าหมด
Men's Silk Fan Gourd Tea Bone Large Short Ground | เกียวเซนซุ
เกียวเซนซุประดับลาย “เฮียวทัน” (น้ำเต้าญี่ปุ่น) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี กระจายอยู่ในส่วนก้านพัด ออกแบบมาเพื่อผู้ชายโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับการใช้ออกงานเชิงธุรกิจ
*สินค้าหมด
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
สินค้าอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ โปรดตรวจสอบบนเว็บไซต์ของผู้ผลิตสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่