"งานลงยาโอวาริ" (尾張七宝) เป็นงานหัตถกรรมที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ลวดลายรูปนกและดอกไม้ มีผิวเคลือบแก้วที่แข็งแรงทนทาน และมีความพิเศษอยู่ที่การใช้โลหะเป็นวัสดุหลักในการสร้างซึ่งแตกต่างจากเครื่องเผาทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะทำจากดิน ในบทความนี้ เราจะมาบอกเล่าประวัติศาสตร์ ลักษณะเด่น และเทคนิคในการสร้างสรรค์งานลงยาโอวาริซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัดไอจิกัน
ประวัติของงานลงยาโอวาริ
งานลงยาโอวาริ เป็นเครื่องเผาชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นในละแวกเมืองนาโกย่า เมืองอามะ และเมืองคิโยสุของจังหวัดไอจิ โดยทั่วไปเครื่องเผาจะใช้ดินหรือหินเป็นวัสดุหลักในการทำ แต่งานลงยาโอวาริจะใช้โลหะอย่างเงินหรือทองแดงแทน โลหะเหล่านี้จะถูกนำไปทายูยาคุ (釉薬 ของเหลวสำหรับเคลือบแก้วที่ทาลงบนผิวของเครื่องปั้นก่อนนำไปเผา) ทำให้มีจุดเด่นเป็นลวดลายที่ดูโอ่อ่าและสีสันสดใส
งานลงยาในภาษาญี่ปุ่นนั้น เรียกว่า "ชิปโป" (七宝) ซึ่งแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า "สมบัติทั้งเจ็ด" หมายถึงสมบัติ 7 อย่างในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ได้แก่ ทอง, เงิน, หินลาพิสลาซูลี, คริสตัล, ไข่มุก, ปะการังและหินอาเกต สาเหตุที่ได้รับชื่อนี้ เป็นเพราะความสวยงามที่ดูราวกับมีสมบัติดังกล่าวฝังอยู่ข้างในนั่นเอง
งานลงยาถือกำเนิดขึ้นในอารยธรรมอียิปต์โบราณตั้งแต่ก่อนศริสตกาล จากนั้นก็ได้เผยแพร่ไปยังยุโรปและประเทศจีน ก่อนจะมาถึงญี่ปุ่นในยุคศตวรรษที่ 7 ปกติแล้วภาชนะที่ทำจากหินหรือดินจะเริ่มต้นในฐานะของใช้ในชีวิตประจำวันก่อน แล้วค่อยถูกยกระดับให้เป็นงานศิลปะหรืองานฝีมือ แต่ในกรณีของงานลงยาโอวารินั้น ได้ถูกจัดให้เป็นงานศิลปะและของประดับตั้งแต่ตอนที่มาถึงประเทศญี่ปุ่นเลย
ว่ากันว่างานลงยาโอวาริที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น มีการผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ ค.ศ. 1830 - 1844 เมื่อ "คาจิสึเนคิจิ" (梶常吉) ช่างฝีมือจากแคว้นโอวาริ (จังหวัดไอจิในปัจจุบัน) ได้ทำการดัดแปลงจานลงยาที่นำเข้ามาจากประเทศฮอลแลนด์ กรรมวิธีที่เขาคิดค้นขึ้นได้กลายเป็นรากฐานให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตโอวาริ และทำให้งานลงยาโอวาริถูกสร้างขึ้นอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 งานลงยาโอวาริก็เป็นที่รู้จักในฐานะงานหัตถกรรมขึ้นชื่อของย่านโอวาริ
ใน ค.ศ. 1867 งานลงยาโอวาริได้รับรางวัลในงานนิทรรศการโลกที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ทำให้มันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แม้กระทั่งช่วงหลังยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) เทคนิคในการสร้างก็ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีงานลงยาใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายรูปแบบ และเมื่อถึง ค.ศ 1995 งานลงยาโอวาริก็ถูกกำหนดให้เป็นงานฝีมือโบราณของญี่ปุ่นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
ลักษณะเด่นของงานลงยาโอวาริ
งานลงยาโอวาริต่างจากเครื่องเผาอื่นๆ ตรงที่ใช้โลหะอย่างทองแดงหรือเงินเป็นวัสดุ แล้วใช้ยูยาคุเคลือบลงบนผิว ก่อนจะลงลวดลายที่สวยงามโดดเด่นราวกับภาพวาด และก็เป็นเพราะการเคลือบผิวชั้นนอกนี้เองที่ทำให้งานลงยาโอวาริมีความทนทานต่อเชื้อราและรอยขีดข่วน
งานลงยาโอวาริมีเทคนิคการสร้างอยู่มากมาย เทคนิคเหล่านี้ทำให้ผลงานที่ได้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เทคนิคเหล่านี้ยังเป็นเทคนิคเดียวกับที่ใช้ในการทำเครื่องเพชรและวัตถุโบราณของยุโรปซึ่งถูกพัฒนาขึ้นตามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่แต่ละแห่ง
ยูเซนชิปโป (有線七宝) : งานลงยาแบบใช้ลวด
เทคนิคนี้จะใช้การวางลวดโลหะลงบนลายสเก็ตที่วาดอยู่บนพื้นผิว เพื่อสร้างโครงสำหรับเทยูยาคุลงไป
มุเซนชิปโป (無線七宝) : งานลงยาแบบไม่ใช้ลวด
ใช้เทคนิคเดียวกันกับยูเซนชิปโป แต่จะถอดลวดโลหะออกก่อนนำไปเผา หรือไม่ก็ใส่ลายลงไปโดยไม่ใช้ลวด มีจุดเด่นเป็นลวดลายที่ดูอ่อนโยน ไม่มีเส้นกั้นและดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
โมริอาเกะชิปโป (盛上七宝) : งานลงยาแบบยกนูน
เทคนิคการโปะยูยาคุให้สูงเหนือลวดโลหะ มีจุดเด่นเป็นลวดลายที่ดูมีมิติ
โชไทชิปโป (省胎七宝) : งานลงยาแบบละลายลวด
เทคนิคที่มีการละลายลวดโลหะของยูเซนชิปโปด้วยกรดไนตริก ทำให้ออกมาคล้ายกับมุเซนชิปโป
วิธีการทำงานลงยาโอวาริจะแตกต่างกันไปตามเทคนิคที่ใช้ เนื่องจากแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องใช้ทักษะที่สูงมาก ส่วนใหญ่จึงมักจะมีระบบให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแบ่งหน้าที่กันทำ ในส่วนนี้เราจะขอยกตัวอย่างวิธีการทำยูเซนชิปโปมาให้คุณได้รู้จัก
- ออกแบบ : กำหนดลวดลายและรูปทรงของชิ้นงาน
- สร้างโครง : ใช้ค้อนโลหะหรือค้อนไม้ตีแผ่นทองแดงให้ขึ้นรูป ปัจจุบันมีการใช้เครื่องจักรในการทำขั้นตอนนี้
- สเก็ตลาย : วาดลายลงบนผิววัสดุด้วยหมึก
- วางลวด : ติดลวดโลหะตามลายที่สเก็ตไว้
- เคลือบยูยาคุ : หยอดยูยาคุลงในโครงลวดโลหะ
- เผา : เผาในอุณหภูมิ 700 - 800 องศาเซลเซียสประมาณ 10 - 15 นาที ทำขั้นตอนนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าลวดโลหะและยูยาคุจะสูงเท่ากัน ในอดีตจะมีการใช้เตาถ่าน แต่ปัจจุบันนิยมทำด้วยเตาไฟฟ้า
- ขัดเงา : ขัดเพื่อให้ชิ้นงานเกิดความเงางาม
- ติดขอบประดับ : ติดขอบบนและล่างของชิ้นงานด้วยห่วงเงินหรือทองเหลือง
งานลงยาโอวาริในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน นอกจากกระถางและแจกันดอกไม้ต่างๆ แล้ว ยังมีการจำหน่ายงานลงยาโอวาริยังในรูปแบบเครื่องประดับอย่างจี้และต่างหูด้วย งานลงยาโอวาริที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้มักจะมาปรากฏในสื่อญี่ปุ่นบ่อยๆ จึงเป็นที่จับตามองของผู้คน
แนะนำผลิตภัณฑ์งานลงยาโอวาริ
จี้สีแดงลายดอกบ๊วย
จี้ที่ปรากฏอยู่ในหน้า "งานลงยาโอวาริในยุคปัจจุบัน" นี้ออกแบบขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก "โฮคาคุไบ" (紅白梅) ดอกบ๊วยสีแดงและขาวที่ถือว่าเป็นสิ่งนำโชค เป็นสุดยอดชิ้นงานที่ดูสวยงามราวกับอัญมณี ทำขึ้นด้วยเทคนิค "อาคาซุเกะ" (赤透け) หรือการเคลือบด้วยสีแดงที่มีความโปร่งใสสูง
▶ คลิกที่นี่ เพื่อชมจี้ลงยาโอวาริอื่นๆ
โชไทชิปโปลายเถาองุ่น
ชิ้นงานชั้นเลิศนี้ทำขึ้นด้วยเทคนิคโชไทชิปโปซึ่งมีขั้นตอนเหมือนยูเซนชิปโป แต่จะมีการละลายลวดโลหะในขั้นตอนสุดท้าย ส่งผลให้แสงส่องผ่านได้ง่ายขึ้น และมีความสวยงามอันน่าตกตะลึง เป็นเทคนิคที่ยากมาก ถึงขนาดที่อาจทำให้ช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญร้องไห้ได้เลยทีเดียว โคมไฟนี้ดูโดดเด่นด้วยลวดลายของใบและผลองุ่น ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการออกดอกออกผล และเมื่อแสงส่องผ่านก็จะทำให้เกิดเป็นความสวยงามอันน่าอัศจรรย์
ยูเซนชิปโป ขนาด 3 ซุง ทรงกลม สีแดง โปร่งใส ลายดอกบ๊วย
แจกันดอกไม้ใบเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่ในช่วงต้นบทความของเรานี้เต็มไปด้วยลวดลายของดอกบ๊วย เป็นดีไซน์ดั้งเดิมของงานลงยาโอวาริที่มีมาตั้งแต่ยุคเมจิ และมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทรงกลม สูง 3 ซุง (ประมาณ 9 ซม.) แต่ก็อัดแน่นไปด้วยทักษะงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน สามารถเพิ่มบรรยากาศที่ดูหรูหราให้กับห้องของคุณได้
▶ คลิกที่นี่ เพื่อชมงานลงยาโอวาริอื่นๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
▶ 10 กระเป๋าญี่ปุ่นคุณภาพสูงยอดนิยม
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ