Japanese Crafts: A Guide to Echizen Lacquerware

เครื่องเขินเอจิเซ็น (越前漆器) งานฝีมือที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,500 ปี เป็นงานหัตถกรรมโดยช่างฝีมือมากประสบการณ์ และมีความสวยสง่าคู่กับแลกเกอร์เงางามเป็นเอกลักษณ์ เครื่องเขินชนิดนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองซาบาเอะ (鯖江) จังหวัดฟุคุอิ ซึ่งอยู่เหนือบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชู และมีการผลิตเป็นสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ของตกแต่งในงานเลี้ยง กล่องขนมหวาน กล่องข้าวเบนโตะ เครื่องชงชา ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างตะเกียบและถ้วยชาม

ปัจจุบันเครื่องเขินเอจิเซ็นได้มีการผลิตและพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น เช่น เครื่องเขินที่สามารถใช้กับเครื่องล้างจานได้ เป็นต้น และเครื่องเขินเอจิเซ็นก็นับเป็นหนึ่งในงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่กำหนดโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นอีกด้วย

ประวัติเครื่องเขินเอจิเซ็น

เครื่องเขินเอจิเซ็นมีต้นกำเนิดในสมัย 1,500 ปีก่อน ณ หมู่บ้านคาตายามะ (片山) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซาบาเอะในปัจจุบัน ในเวลานั้น จักรพรรดิลำดับที่ 26 หรือจักรพรรดิเคไต (継体天皇) ที่ยังเป็นเจ้าชายอยู่ได้สั่งให้ช่างเคลือบมาซ่อมแซมมงกุฎให้ และเกิดความประทับใจในงานฝีมือประเภทนี้ จึงสนับสนุนการผลิตเครื่องเขิน การบูรณะด้วยแลกเกอร์ และการเคลือบภาชนะถ้วยชามด้วยสีดำ

ถึงแม้ว่าการเคลือบแลกเกอร์จำเป็นต้องใช้ยางไม้ในปริมาณมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะช่างฝีมือที่อยู่ในเมืองเอจิเซ็นต่างก็มียางไม้นี้กันอยู่แล้ว ว่ากันว่าในสมัยของโชกุนโทคุกาว่า (徳川幕府) รัฐบาลกลางได้ออกคำสั่งให้เอจิเซ็นเก็บยางไม้ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้สร้างศาลเจ้านิกโก้โทโชกุ (日光東照宮) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นมรดกโลกที่สำคัญของจังหวัดโทชิกิ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่าแลกเกอร์ของเอจิเซ็นนั้นมีคุณค่าสูงขนาดไหน

นอกจากนี้ "ช่างไม้" ก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อเครื่องเขินเอจิเซ็นมากเช่นกัน ว่ากันว่า "โคเรทากะ ชินโน" (惟喬親王 ค.ศ. 844 - 897) หนึ่งในเชื้อพระวงศ์ที่มาใช้ชีวิตเกษียณอย่างสงบในเมืองเอจิเซ็นนั้น ได้ถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูปไม้โดยใช้ล้อหมุน "โรคุโระ" (ろくろ) ของช่างปั้นหม้อให้กับคนในพื้นที่ และส่งเสริมการผลิตชามและถาดจนเกิดเป็นอาชีพช่างไม้ที่เรียกว่า "คิจิชิ" (木地師) ขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ โคเรทากะจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของช่างไม้ และยังเป็นเทพประจำ "ศาลเจ้าคาตายามะชิกกิ" (片山漆器神社) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1221 ด้วย

เดิมทีเครื่องเขินเอจิเซ็นมักทำเป็นทรงกลม อย่างถ้วยชาม เป็นต้น แต่ในช่วงหลัง ค.ศ. 1868 ก็ได้เริ่มมีการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งสินค้าทรงเหลี่ยม อย่างกล่องใส่ข้าวสุก (おひつ) หรือกล่องเบนโตะที่เป็นเถาปิ่นโตทรงเหลี่ยม (重箱) รวมไปถึงสินค้าชนิดอื่น เช่น แจกันและถาด เป็นต้น

เมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นก็เริ่มมีการขยายไลน์การผลิตไปยังสินค้าเชิงธุรกิจต่างๆ เช่น อุปกรณ์สำหรับโรงแรมหรือร้านอาหาร เครื่องเขินนี้ถูกเรียกตามชื่อแหล่งผลิตว่า "คาวาดะนูริ" (河和田塗) และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ลักษณะเด่นของเครื่องเขินเอจิเซ็น

เครื่องเขินเอจิเซ็นผลิตขึ้นด้วยความร่วมมือของช่างฝีมือหลายคน จนกล่าวได้ว่าฝีมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของช่างฝีมือทุกคนคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในปัจจุบัน ผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลิตเครื่องเขินนี้ประกอบไปด้วยช่างไม้ (คิจิชิ) ช่างเคลือบ (塗り職人) และช่างตกแต่งที่ชำนาญการวาดลวดลายแล้วปิดด้วยเงินหรือทอง จนกล่าวได้ว่าการที่เครื่องเขินเอจิเซ็นมีเอกลักษณ์ทางโครงสร้างที่แข็งแรงและสง่างามนั้น เป็นผลมาจากความร่วมมือของช่างฝีมือจำนวนมากนั่นเอง

ไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเขินเป็นไม้ที่มีความทนทาน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไม้โทจิ (トチ) ไม้มิซูเมะ (ミズメ) ไม้เคยากิ (ケヤキ) และไม้คัทซึระ (カツラ) ช่างไม้จะประเมินคุณภาพของไม้เหล่านี้อย่างรอบคอบและตัดไม้อย่างแม่นยำให้ได้เป็นขนาดที่ต้องการ จากนั้น พวกเขาจะทำการเสริมความแข็งแรงและปรับพื้นผิวของไม้ตรงบริเวณรอยต่อ จัดการกับรอยขีดข่วนและรูต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ขั้นตอน 2 ขั้นแรกจึงถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการผลิตไม้ที่สมบูรณ์แบบในภายหลัง

เมื่อจัดการกับสภาพไม้เรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนในการทำเครื่องเขิน ช่างฝีมือจะต้องทาแลกเกอร์ทีละชั้น และรอให้แห้งก่อนทาทับอีกครั้งเพื่อให้แลกเกอร์แข็งตัว แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับกระบวนการนี้ คือ ช่างเคลือบจะต้องคาดคะเนเวลาที่ใช้ในการรอแลกเกอร์แห้งซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น สภาพอากาศ ความชื้น ฯลฯ
นายช่างจะต้องเคลือบชั้นล่าง - กลาง - บนซ้ำไปซ้ำมา และต้องทาให้มีความหนาที่สม่ำเสมอเพื่อให้ได้ชั้นแลกเกอร์ที่มีความสม่ำเสมอด้วย เป็นทักษะชั้นสูงที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักทีเดียว

ขั้นตอนสุดท้ายคือการตกแต่ง ช่างฝีมือจะโรยผงเงินผงทองด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "มาคิเอะ" (蒔絵) ติดทองคำเปลวลงบนลวดลายที่แกะสลักไว้ แล้วประดับด้วยเปลือกหอยสีเหลือบรุ้งตามสไตล์ของเทคนิค "ราเด็น" (螺鈿)
ด้วยกระบวนการผลิตที่อาศัยทักษะอันละเอียดอ่อนในทุกๆ ขั้นตอน จึงได้เป็นเครื่องเขินอันงดงามและน่าหลงใหล

เครื่องเขินเอจิเซ็นในปัจจุบัน

เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่เครื่องเขินเอจิเซ็นได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรก (ค.ศ. 1975) และใน ค.ศ. 1990 ก็ได้มีการก่อตั้งสหกรณ์เครื่องเขินเอจิเซ็นขึ้น โดยมีจุดประสงค์เน้นการเปิดตลาดใหม่ และจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดแสดงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในงานแสดงของขวัญระดับนานาชาติ (International Gift Show)

ในปัจจุบัน เครื่องเขินเอจิเซ็นมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ อย่างตะเกียบ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างกรอบรูป นอกจากนี้ คุณยังสามารถเดินทางไปชมเครื่องเขินได้ตามพิพิธภัณฑ์และงานนิทรรศการต่างๆ หรือเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อสัมผัสประสบการณ์การวาดภาพและตกแต่งเครื่องเขินจริงๆ ได้อีกด้วย

เครื่องเขินเอจิเซ็นมีสินค้าอยู่หลายประเภท ทุกชิ้นล้วนมีทั้งการตกแต่งในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สไตล์ที่ดูงดงามหรูหรา ไปจนถึงแบบเรียบง่ายสบายตา หากสนใจจะเก็บเป็นของสะสมก็น่าสนุกไม่น้อย!

สินค้าแนะนำ - เครื่องเขินเอจิเซ็น

Thermo Mug Urushi Umbrella Bottle Treasure Exhaustion (สีแดง)

ที่มา : BECOS

กระติกน้ำทรงร่มนี้เต็มไปด้วยภาพของสิ่งนำโชคต่างๆ ตั้งแต่ "ค้อนวิเศษ" (小槌) ที่เชื่อกันว่าเขย่าแล้วจะมีสมบัติออกมา, ยันต์โชคดี (開運招福), ต้นสน (松) ที่สื่อถึงการมีอายุยืนยาว, เครื่องแต่งกายของเทพเจ้ายามออกเดินทาง (神様の旅装束) ไปจนถึงยันต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเรียกความโชคดี (隠れ蓑)
เรียกได้ว่ามีความหมายดีๆ แฝงอยู่เต็มไปหมด นอกจากกระติกสีแดงแล้วก็ยังมีสีดำด้วยนะ!

ช้อปเลย!

Thermo Mug Lacquer Mobile Tumbler Arabesque (สีดำ)

ที่มา : BECOS

แก้วทัมเบลอร์ขนาดพกพา มาพร้อมกับลวดลายมงคล รวมถึงเกลียวแบบอาหรับที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองและอายุที่ยืนยาวของตระกูล แก้วใบนี้เป็นสินค้าที่ผลิตร่วมกับบริษัท Thermos มีทั้งสีดำแบบชิคๆ และสีแดงสวยให้คุณเลือกซื้อได้ตามใจชอบ!

ช้อปเลย!

▶ มองหางานฝีมืออื่น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินวากาสะ” งานหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCategory_tableware (อาหารเย็น)Craft guide