Japanese Crafts: A Guide to Kanazawa Lacquerware

เครื่องเขินคานาซาว่า (金沢漆器) มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความละเอียดอ่อนและหรูหรา มีต้นกำเนิดอยู่ในเมืองคานาซาว่า จังหวัดอิชิคาว่า ซึ่งอยู่เหนือพื้นที่ตอนกลางของเกาะหลักญี่ปุ่น และหันหน้าออกสู่ทะเลญี่ปุ่น เครื่องเขินนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี มีขั้นตอนการทำที่เริ่มตั้งแต่การวาดลวดลายลงบนเนื้อวัสดุด้วยแลกเกอร์ ไปจนถึงการใช้เทคนิคที่เรียกว่า "คางะมาคิเอะ" ซึ่งเป็นการโรยผงเงินผงทองลงไปก่อนแลกเกอร์จะแห้งสนิท ส่วนใหญ่มักจะมีสีดำ สีแดงเข้ม และสีทอง ดูสวยงามดึงดูดใจจนกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมได้ทำการกำหนดให้เป็นหนึ่งในงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น

ประวัติเครื่องเขินคานาซาว่า

เครื่องเขินคานาซาว่าเป็นงานฝีมือที่ทำด้วยการนำไม้หรือกระดาษมาซ้อนติดกันโดยใช้แลกเกอร์เป็นตัวเชื่อม มีต้นกำเนิดอยู่ในเมืองคานาซาว่า (จังหวัดอิชิคาว่าในปัจจุบัน) และมีการใช้เทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่า "คางะมาคิเอะ" (加賀蒔絵) ในขั้นตอนการผลิต เทคนิค "มาคิเอะ" อันโด่งดังนี้เป็นการใช้แลกเกอร์วาดลวดลายบนพื้นผิวของเครื่องเคลือบแล้วตกแต่งด้วยการโรยผงเงินหรือผงทองลงไปก่อนที่แลกเกอร์จะแห้งสนิท

เครื่องเขินชนิดนี้ใช้เทคนิคชั้นสูงมากมายในการทำ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคเฮียวมง (平文 การฝังแผ่นเงินหรือแผ่นทองที่ลับคมแล้วลงไปบนแลกเกอร์) ราเด็น (螺鈿 การตกแต่งด้วยเปลือกหอยสีเหลือบรุ้ง) หรือรันราคุ (卵殻 การตกแต่งด้วยด้านในของเปลือกไข่ที่มีสีขาว) ทำให้ได้ออกมาเป็นเครื่องเขินคานาซาว่าที่มีความโดดเด่นด้วยลวดลายที่ดูอ่อนช้อยงามสง่าฉายชัดอยู่บนบนพื้นผิวสีดำทอง

ประวัติการพัฒนาเครื่องเขินคานาซาว่านี้มีมาตั้งแต่สมัย 400 ปีก่อน โดยมีเป็นแคว้นคางะ (加賀藩) ที่มั่งคั่งร่ำรวยเป็นผู้สนับสนุน ว่ากันว่าแคว้นนี้มีอำนาจทางการเงินสูงมากจนเป็นที่จับตามองของรัฐบาลเอโดะซึ่งนำโดย "โทคุกาว่า อิเอยาสุ" (徳川家康) เจ้าของแคว้นจึงตัดสินใจทุ่มเงินไปกับการพัฒนาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมแทนการลงทุนทางทหาร เพื่อให้แคว้นของตนไม่ดูเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลนั่นเอง

แคว้นคางะในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1863) ครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งหมดในแถบคางะ (จังหวัดอิชิคาว่าในปัจจุบัน) โนโตะ (能登 ตอนเหนือของจังหวัดอิชิคาว่าในปัจจุบัน) และ เอ็ตชู (越中 จังหวัดโทยามะในปัจจุบัน) แคว้นคางะมีอำนาจมากจนได้รับการขนานนามว่า “คางะ เฮียคุมันโกคุ" (加賀百万石)” ซึ่งมีความหมายว่า คางะ ศักดินา 1 ล้านโคคุ (หน่วยวัดพื้นที่ในสมัยนั้น) ดังนั้น เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของรัฐบาลเอโดะ "มาเอดะ โทชิตซึเนะ" (前田利常) ผู้ปกครองคนที่ 3 ของแคว้นคางะ (ค.ศ. 1594 - 1658) จึงหันความสนใจไปที่การพัฒนาวัฒนธรรมแทนการทหาร

มาเอดะได้เชิญครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญงานฝีมือชั้นสูงจากเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) และเกียวโตให้มาอยู่ในแคว้นคางะ และในกลุ่มนี้ก็มีอาจารย์ 2 ท่านที่เป็นผู้ริเริ่มพื้นฐานการผลิตเครื่องเขินคานาซาว่า ท่านแรกคือ "อิการาชิ โดโฮะ" (五十嵐道甫) ผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคนิคมาคิเอะจากเกียวโต และอีกท่านหนึ่งคือ "ชิมิสึ คุเฮอิ" (清水九兵衛) ช่างฝีมือผู้มีชื่อเสียงในเอโดะ เทคนิคเหล่านี้ได้รับการสืบทอดโดยบรรดาศิษย์ จนเกิดเป็นเทคนิคพื้นฐานในการทำเครื่องเขินคานาซาว่าในที่สุด

นอกจากนี้ มาเอดะ โทชิตซึเนะ ผู้ปกครองแคว้นคางะนี้ยังชื่นชอบละครโน (能 ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น) และพิธีชงชาเป็นอย่างมากด้วย ทำให้ในสมัยของผู้ปกครองรุ่นที่ 5 ได้เกิดความนิยมในพิธีชงชาอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดที่ซามูไรและชาวเมืองสามารถชงชาด้วยตนเองได้

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนทั่วไปจึงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่มีคางะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เกิดเป็นภูมิทัศน์และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ไม่เหมือนใคร

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการพัฒนาเทคนิคมาคิเอะในจังหวัดคานาซาว่าก็คือ การผลิตทองคำเปลวที่เจริญรุ่งเรือง ทองคำเปลวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยการผสมทองเข้ากับเงินหรือทองแดงในปริมาณน้อย แล้วรีดให้เป็นแผ่นบาง ที่นี่มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งผลิตทองคำเปลวมานานกว่า 400 ปี และยังมีส่วนแบ่งการตลาดของการผลิตทองคำเปลวในประเทศมากกว่า 98% ในปัจจุบัน

ว่ากันว่าสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการผลิตทองคำเปลวและช่างฝีมือที่มีความอุตสาหะอดทนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตทองคำเปลวในคานาซาว่า ซึ่งไม่เพียงแต่จะถูกนำไปใช้ในแวดวงการผลิตเครื่องเขินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในงานฝีมืออื่นๆ เช่น แท่นบูชาพระพุทธรูปและเครื่องปั้นดินเผาได้ด้วย

การผลิตเครื่องเขินในคานาซาว่าไม่ใช่การผลิตในปริมาณมาก (Mass Production) แต่เป็นการผลิตโดยช่างฝีมือที่ค่อยๆ สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาทีละชิ้น (一品制作) ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องเขินคานาซาว่าที่ทนทานและสวยงามนี้ยังได้รับการพัฒนาไปใช้ในการทำเกราะอาวุธ เช่น ฝักดาบ รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ อย่างตุ๊กตาตกแต่งและอุปกรณ์ชงชาด้วย

เอกลักษณ์ของเครื่องเขินคานาซาว่า

เครื่องเขินคานาซาว่ามีจุดเด่นเป็นลวดลายที่ละเอียดอ่อนดูหรูหราซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากการผสมผสานความสง่างามของขุนนางเข้ากับความแข็งแกร่งของซามูไร เครื่องเขินชนิดนี้มีกระบวนการผลิตที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปไม้ (木地加工) การเสริมผ้า (布着せ) การทาสีและการเหลา (塗り・研ぎ)

การแปรรูปไม้ คือ การขึ้นรูปไม้ให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ โดยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญที่เรียกกันว่า คิจิชิ (木地師) จะเป็นผู้นำไม้มาขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน (ろくろ) ให้เป็นรูปจาน ถ้วย ฯลฯ ส่วนการเสริมผ้านั้นทำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อต่อของไม้และส่วนที่เป็นรอยง่ายด้วยการติดผ้าหรือกระดาษญี่ปุ่นเข้าไป

ส่วนการทาสีและการเหลา เป็นขั้นตอนการลงแลกเกอร์และเหลาซ้ำไปซ้ำมาเพื่อตกแต่ง การตกแต่งนี้จะใช้เทคนิคมาคิเอะเป็นหลัก

นอกจากเครื่องเขินคานาซาว่าแล้ว ยังมีเครื่องเขินอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย เช่น เครื่องเขินวาจิมะนูริ (輪島塗) หรือเครื่องเขินยามานากะ (山中) ประเภทแรกจะมีการใช้แลกเกอร์วาจิมะที่พัฒนาขึ้นในเขตเมืองวาจิมะและคาบสมุทรโนโตะ (輪島市・能登半島) โดยนำไปผสมกับผงดินวาจิมะแบบพิเศษที่ทำด้วยดินคุณภาพสูง ในขณะที่เครื่องเขินยามานากะได้รับการพัฒนาขึ้นในพื้นที่บริเวณต้นน้ำของยามานากะออนเซ็น (เมืองคางะ จังหวัดอิชิคาว่าในปัจจุบัน) เครื่องเขินยามานากะจะต้องทำด้วยไม้ที่ผ่านการเลือกสรรมาเป็นพิเศษ นำมาทาแลกเกอร์บางๆ ลงบนพื้นผิว ทำให้เห็นลายไม้ที่สวยงาม ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ

เครื่องเขินคานาซาว่าในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ ความต้องการในงานฝีมือต่างๆ อย่างเครื่องเขินคานาซาว่ากำลังลดลงด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อัตราการเกิดที่ลดลง และประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดเทคนิคการผลิตต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เมืองคานาซาว่ากำลังพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือดั้งเดิมอย่างเต็มที่เพื่อรักษาวัฒนธรรมและความรู้ที่สั่งสมมาจนถึงปัจจุบันนี้เอาไว้ เครื่องเขินคานาซาว่ายังได้รับการกำหนดให้เป็นงานฝีมือดั้งเดิมโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1980 อีกด้วย

แม้กระทั่งในปัจจุบัน การผลิตเครื่องเขินคานาซาว่าก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เป็นงานฝีมือที่ผลิตทีละชิ้นอย่างพิถีพิถัน สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเขินคานาซาว่าหลากหลายประเภทเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย เช่น กล่องใส่นามบัตร ปากกาหมึกซึม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ เครื่องเขินชนิดนี้จึงเป็นงานฝีมือญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินวากาสะ” งานหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินเอจิเซ็น” งานฝีมือญี่ปุ่นดั้งเดิม

▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCategory_tableware (อาหารเย็น)Craft guide