Echizen ware

เครื่องปั้นดินเผาเอจิเซ็น (越前焼) เป็นสินค้าหัตถกรรมดั้งเดิมที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนด ผลิตในจังหวัดฟุคุอิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคโฮคุริคุ (อยู่เหนือพื้นที่ตอนกลางของญี่ปุ่น) และเป็นภูมิภาคเดียวกับเมืองคานาซาว่า เครื่องปั้นชนิดนี้มีประวัติความเป็นมานานกว่า 800 ปี และเป็นหนึ่งในตัวแทนเครื่องปั้นดินเผาของประเทศญี่ปุ่น

ความพิเศษของเครื่องปั้นชนิดนี้อยู่ที่การผลิตโดยไม่ใช้น้ำยาเคลือบเงา แต่จะใช้ฟางหรือขี้เถ้าในการเผาซินเทอร์ (Sintering) เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์และให้ความรู้สึกเรียบง่าย เป็นวิธีที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบเครื่องเอจิเซ็น

ประวัติของเครื่องเอจิเซ็น

เครื่องเอจิเซ็นเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่เมืองเอจิเซ็น จังหวัดฟุคุอิ เป็นจังหวัดที่อยู่ติดทะเลญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคชูบุของเกาะฮอนชู (เกาะหลักญี่ปุ่น) มีประวัติความเป็นมายาวนาน และยังเป็นหนึ่งใน "6 เครื่องปั้นดินเผาแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม" (日本六古窯) อีกด้วย

เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม 6 ชนิดของญี่ปุ่นนี้ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ตัวแทนจากแหล่งผลิต 6 แห่งที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นซึ่งมีการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1185 – 1333) จนถึงปัจจุบัน นอกจากเครื่องเอจิเซ็นแล้วก็ยังมี
"เครื่องบิเซ็น" (備前焼) จากเมืองบิเซ็น จังหวัดโอคายาม่า
"เครื่องเซโตะ" (瀬戸焼) จากเมืองเซโตะ จังหวัดไอจิ
"เครื่องโทโกนาเมะ" (常滑焼) จากเมืองโทโกนาเมะ จังหวัดไอจิ
"เครื่องชิการากิ" (信楽焼) จากเมืองโคกะ จังหวัดชิกะ และ
"เครื่องทัมบะ" (丹波焼) จากเมืองซาซายามะ จังหวัดเฮียวโกะ

เครื่องเอจิเซ็น มีลักษณะเด่นอยู่ที่ผิวสัมผัสแบบพื้นๆ ดูเป็นธรรมชาติ และสีน้ำตาลแดงที่เกิดจากธาตุเหล็กปริมาณสูง เครื่องปั้นชนิดนี้จะไม่ใช้น้ำยาเคลือบเงา (Glass Coating) ซึ่งเป็นสารเคลือบที่ช่วยเพิ่มสีสัน ความเงางาม และคุณสมบัติกันน้ำให้กับเครื่องปั้น แต่จะใช้การเคลือบขี้เถ้าที่ได้จากการเผาฟืนซึ่งลอยมาติดอยู่บนพื้นผิวภาชนะแทน เมื่อขี้เถ้าละลายก็จะเกิดเป็นลวดลายสีเขียวดูสวยงามมีเสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เลียนแบบไม่ได้ของเครื่องปั้นดินเผาเอจิเซ็น

ประวัติของเครื่องเอจิเซ็นนั้น ต้องย้อนไปราว 850 ปีก่อน ในสมัยปลายยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 - 1185) เครื่องเอจิเซ็นส่วนใหญ่จะถูกทำเป็นข้าวของสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น ไห โอ่ง ครกบด ขวดเหล้าสาเก ฯลฯ ด้วยความที่เป็นเครื่องปั้นที่แข็งแรงและมีคุณสมบัติกันน้ำ ชาวบ้านจึงนิยมใช้เป็นที่เก็บน้ำ เหล้า หรือธัญพืช

เมื่อเข้าสู่สมัยมูโรมาจิ (ค.ศ. 1336 - 1573) ก็มีการขนส่งเครื่องเอจิเซ็นด้วยการคมนาคมทางเรือไปขายตามจังหวัดต่างๆ บนเส้นทางชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น ตั้งแต่ฮอกไกโดไปจนถึงจังหวัดชิมาเนะ จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วประเทศในที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เครื่องเอจิเซ็นเป็นที่แพร่หลายก็เป็นเพราะมีการขนส่งจากท่าเรือชื่อดังขนาดใหญ่ 2 แห่งของญี่ปุ่น คือ ท่าเรือเมืองสึรุกะกับเมืองมิคุนิในจังหวัดฟุคุอินั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ายุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทำให้ความต้องการซื้อไหหรือโอ่งลดลง เครื่องเอจิเซ็นก็ถดถอยไปตามกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เริ่มมีการผลิตเป็นภาชนะต่างๆ เช่น ทคคุริ (徳利 ขวดเหล้าสาเก) และอุปกรณ์ชงชาต่างๆ แต่กลับไม่ค่อยได้รับความนิยม จนเตาเผาหลายๆ แห่งจำเป็นต้องปิดกิจการกันไปอย่างต่อเนื่อง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1935 - 1945) เครื่องเอจิเซ็นก็กลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง เนื่องจากมีการสำรวจร่องรอยเตาเผาโบราณ นำโดยคุณโคยามะ ฟูจิโอะ (小山冨士夫) และคุณมิซูโนะ คูเอมง (水野九右衛門) คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเครื่องเอจิเซ็นจึงได้ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง แล้วหลังจากนั้น คุณโคยามะ ฟูจิโอะ ก็ได้ขนานนาม "เครื่องบิเซ็น, เครื่องเซโตะ, เครื่องโทโกนาเมะ, เครื่องชิการากิ, เครื่องทัมบะ และเครื่องเอจิเซ็น" ว่าเป็น 6 เครื่องปั้นดินเผาโบราณ

ด้วยเหตุนี้เอง เครื่องเอจิเซ็นจึงกลายมาเป็นสินค้าหัตถกรรมดั้งเดิมที่ใช้กันในชีวิตประจำวันในที่สุด

เอกลักษณ์ของเครื่องเอจิเซ็น

เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้อยู่ที่ความเรียบง่าย โดยนำพื้นผิวของดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มีความแข็งแรงทนทานและคุณสมบัติทนไฟ ซึ่งเป็นผลจากการใช้ดินสีน้ำตาลแดงที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กซึ่งหาได้จากในพื้นที่ นอกจากนี้ยังไม่ใช้น้ำยาเคลือบเงา และไม่มีการวาดภาพตกแต่งใดๆ ลงบนเครื่องปั้นด้วย เมื่อนำไปเผาด้วยอุณหภูมิสูง ขี้เถ้าจากฟืนจะเคลือบผิวรอบนอก และเมื่อขี้เถ้าหลอมละลายลงก็จะแทรกซึมลงบนผิวของตัวเครื่องปั้น จนเกิดเป็นสัมผัสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้

นอกจากนี้ ความจริงแล้วเครื่องเอจิเซ็นยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเซรามิกชนิดสโตนแวร์ ที่ไม่ใช่เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องกระเบื้องด้วย ซึ่งคุณสมบัติของเซรามิกชนิดสโตนแวร์จะอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องกระเบื้อง มีจุดเด่นอยู่ที่ความทนทาน และยังสามารถกันน้ำได้อีกด้วย

เครื่องเอจิเซ็นในปัจจุบัน

หนึ่งในเทคนิคเฉพาะของการผลิตเครื่องเอจิเซ็น คือ การขึ้นรูปโดยใช้เทคนิคการหมุนที่เรียกว่า "เนจิทาเทเซเค" (捻じたて成形) เทคนิคนี้จะเริ่มจากการสร้างฐาน จากนั้นจึงใช้ดินเหนียวที่ปั้นเป็นเชือกยาวไปวางวนไว้รอบฐาน แล้วซ้อนต่อกันด้านบนไปเรื่อยๆ

ใน ค.ศ. 1986 เทคนิค "การขึ้นรูปโดยใช้เทคนิคการหมุนสำหรับการสร้างโอ่งยักษ์เอจิเซ็น" นี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจังหวัดฟุคุอิด้วย

ใน ค.ศ. 1917 เมืองเอจิเซ็นได้กลายเป็นฐานหลักของแผนการพัฒนาท้องถิ่น และได้มีการสร้าง "หมู่บ้านเครื่องเอจิเซ็น" สำหรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้น ช่างปั้นจากทั่วประเทศจึงเดินทางมามารวมตัวกัน ทำให้มีการสร้างเตาเผาเพิ่มขึ้นมากมาย และในปัจจุบัน ช่างปั้นก็ได้ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ ไปพร้อมกับการส่งต่อเทคนิคที่สืบสานกันมาแต่โบราณ จนในที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้กำหนดให้เครื่องเอจิเซ็นเป็นสินค้าหัตถกรรมดั้งเดิมใน ค.ศ. 1986

ทุกวันนี้ ใครๆ ก็สามารถเพลิดเพลินกับเครื่องเอจิเซ็นได้ในหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแวะเที่ยวที่ "หมู่บ้านเครื่องเอจิเซ็น" ซึ่งเป็นฐานหลักการผลิตและเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เครื่องเซรามิกประจำจังหวัดฟุคุอิ, ศูนย์เทคโนโลยีอุตสาหกรรมจังหวัดฟุคุอิ, โรงปั้นเครื่องเอจิเซ็น (ในภาพด้านบน) หรือสถานที่ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ

ในช่วงหลายปีมานี้ จังหวัดฟุคุอิ ร่วมกับเมืองซาบาเอะ เมืองเอจิเซ็น และย่านเอจิเซ็นก็ได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปทัวร์ที่เรียกว่า "RENEW" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าชมสถานที่ทำงานของช่างปั้นได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

งาน RENEW จะเผยให้เห็นสถานที่ทำงานของช่างปั้นในแหล่งผลิตทั้ง 7 แห่ง รวมถึงมีการจัดแสดงเครื่องเอจิเซ็นด้วย ทางผู้จัดหวังว่ากิจกรรมเยี่ยมชมและเวิร์คช็อปเหล่านี้จะทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความตั้งใจของช่างปั้น ได้สัมผัสกับงานศิลปะ และได้อุดหนุนสินค้าของพวกเขาด้วยนั่นเอง ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้จึงไม่ใช่แค่การส่งต่อเทคนิคการปั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาเครื่องเอจิเซ็นไปพร้อมๆ กันด้วย

เว็บไซต์ของ "RENEW" (ภาษาญี่ปุ่น) : https://renew-fukui.com/

▶ มองหางานฝีมืออื่น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ 9 แบรนด์ถ้วยชามญี่ปุ่นน่าใช้ในวันพิเศษ

▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCategory_tableware (อาหารเย็น)Craft guide