japanese-pottery-porcelain-and-lacquerware-whats-the-difference-and-how-to-take-care

ถ้วยชามที่ใช้กันในญี่ปุ่นนั้นมีทั้ง "โทกิ" และ "จิกิ" ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา และ "ชิกกิ" ที่เป็นงานไม้ คุณทราบไหมว่าของเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร? ทำมาจากอะไร? ใช้กับไมโครเวฟได้ไหม? มีวีธีดูแลรักษาอย่างไร? ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรามีเรื่องที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจเต็มไปหมด ในบทความนี้ BECOS×tsunagu Japan จะมาอธิบายเกี่ยวกับจุดเด่นและความแตกต่างของถ้วยชามแต่ละประเภทกันในแบบที่ลงลึกถึงรายละเอียดแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ

ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดก็คือ "วัตถุดิบ" หรือวัสดุที่ใช้ทำนั่นเอง

"โทกิ" ทำจากดินเหนียว
"จิกิ" ทำจากดินขาว
"ชิกกิ" ทำจากไม้

มาดูกันเลยว่าแต่ละประเภทมีความโดดเด่นหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โทกิ (陶器) : ภาชนะหยาบๆ ที่ดูเรียบง่าย

ผลงงานของช่างบิเซ็นยากิ "Naoto Tsuneki" (恒枝直豆)

โทกิ หรือเครื่องดิน มีเอกลักษณ์เป็นรูปลักษณ์ที่ดูเรียบง่ายและไม่ประณีตนัก พื้นผิวมักจะหยาบและดูมีตะปุ่มตะป่ำ มีจุดเด่นหลักๆ อยู่ 3 ข้อดังต่อไปนี้ :

จุดเด่น 3 ข้อของโทกิ

1. ภาชนะทั้งใบมีสีของดินและมีพื้นผิวที่ขรุขระ

โทกิทำจากดินเหนียวที่เรียกว่า "โทโดะ" (陶土) จึงมีผิวสัมผัสแบบเดียวกับดินในพื้นที่ที่เก็บมา บ้างก็ขรุขระ บ้างก็ตะปุ่มตะป่ำ แหล่งผลิตแต่ละแห่งก็มีดินที่แตกต่างกันไป จึงส่งผลให้สีและรูปร่างหน้าตาของภาชนะแตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากใช้ดินเป็นวัตถุดิบ พื้นผิวของมันจึงมีรูที่มองไม่เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ในบางครั้งถูกเรียกว่า "ภาชนะที่หายใจได้"

2. ชำรุดและเปลี่ยนรูปยากแม้ในอุณหภูมิสูง

เมื่อเทียบกับจิกิ โทกิจะทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีกว่า อย่างหม้อดินที่ต้องสัมผัสกับไฟโดยตรง หากมองอย่างกว้างๆ ก็จะสามารถจัดเป็นโทกิได้เช่นกัน

3. แตกร้าวง่ายเมื่อถูกกระทบ

โทกิแข็งแรงน้อยกว่าจิกิ และอาจแตกได้หากมีของแข็งมากระทบ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง

แหล่งผลิตโทกิที่โดดเด่น

ญี่ปุ่นมีแหล่งผลิตโทกิอยู่มากมาย แต่สถานที่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ ชิรากากิ บิเซ็น และโทโคนาเมะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของ "ชิการากิยากิ" (信楽焼) "บิเซ็นยากิ" (備前焼) และ "โทโคนาเมะยากิ" (常滑焼) ตามลำดับ

▶ "Naoto Tsuneki" ช่างบิเซ็นยากิรุ่นใหม่ที่ BECOS×tsunagu Japan ภูมิใจนำเสนอ!

จิกิ (磁器) : สวยงามด้วยสีขาวและผิวสัมผัสเรียบลื่น

จิกิ หรือเครื่องกระเบื้อง เป็นภาชนะที่มีพื้นผิวสีขาว ลื่น และเงางาม มีจุดเด่นหลักๆ 3 ข้อดังต่อไปนี้ :

จุดเด่น 3 ข้อของจิกิ

1. ภาชนะทั้งใบมีสีขาวและผิวเรียบลื่น

จิกิทำขึ้นจาก "จิโดะ" (磁土) หรือดินขาวที่ทำขึ้นโดยผสมแร่เฟลด์สปาร์ลงไปในดินเหนียว เนื่องจากเป็นการนำวัสดุที่มีอนุภาคละเอียดและเป็นเนื้อเดียวกันไปเผาในอุณหภูมิสูงจึงส่งผลให้มีพื้นผิวที่เงางาม

2. เก็บความร้อนได้น้อย

จิกิมักจะถูกเผาให้บางจนแสงสามารถส่องผ่านได้ เมื่อใส่อาหารร้อนๆ อย่างซุปก็จะทำให้ตัวภาชนะร้อนจนถือไม่ได้ แถมยังเย็นตัวเร็วอีกด้วย หากคุณกำลังมองหาภาชนะสำหรับใส่อาหารร้อน เราขอแนะนำให้เลือกโทกิจะดีกว่า

3. แตกร้าวยากเมื่อถูกกระทบ

เนื่องจากจิกิผ่านการเผาในอุณหภูมิสูง ความหนาแน่นจึงสูงและไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ดังนั้นจึงถือเป็นภาชนะที่แข็งแรงกว่าเมื่อเทียบกับโทกิ

แหล่งผลิตจิกิที่โดดเด่น

แหล่งผลิตที่โด่งดังเป็นพิเศษนั้น ได้แก่ อาริตะ คุทานิ และเซโตะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิต "อาริตะยากิ" (有田焼) "คุทานิยากิ" (九谷焼) และ "เซโตะยากิ" (瀬戸焼) ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผิวเรียบลื่นน่าสัมผัส และมีลวดลายสวยงามที่ไม่สามารถพบได้ในโทกิ

▶ "Marubun" แบรนด์อาริตะยากิที่ BECOS×tsunagu Japan ภูมิใจนำเสนอ!

ชิกกิ (漆器) : ภาชนะสีดำหรือแดงที่เงาวับ

ชิกกิไม่ได้ทำขึ้นโดยนำไปเผาในเตาเผา แต่เป็นไม้ที่ทาแลคเกอร์จนเงางาม และทำให้พื้นผิวเรียบจนสามารถใช้เป็นภาชนะใส่อาหารได้ มีจุดเด่นหลักๆ อยู่ 3 จุด ดังต่อไปนี้ :

จุดเด่น 3 ข้อของชิกกิ

1. มีความเงางามที่โดดเด่นของแลคเกอร์สีดำหรือแดง

ชิกกิต่างจากโทกิกับจิกิตรงที่ทำขึ้นจากไม้ โดยนำไม้ไปทาด้วยแลคเกอร์ซ้ำกันหลายๆ ชั้นจนมีความเงางามเป็นเอกลักษณ์

2. เบาและถือง่าย

ด้วยความที่ทำจากไม้ ชิกกิจึงมีน้ำหนักเบาและหยิบจับได้ง่ายมาก อีกทั้งยังนำความร้อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับใส่ของร้อนที่จำเป็นต้องยกดื่ม

3. ไม่สามารถใช้กับเครื่องล้างจานหรือไมโครเวฟได้

เนื่องจากชิกกิมีการทาแลคเกอร์ลงบนไม้โดยตรง เมื่อนำไปใส่เครื่องล้างจานหรือไมโครเวฟก็อาจทำให้สีเปลี่ยนหรือลอกได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งานในไมโครเวฟ

แหล่งผลิตชิกกิที่โดดเด่น

แหล่งผลิตชิกิที่โดดเด่น ได้แก่ วาจิมะ ยามานากะ เอจิเซ็น และคิวชู ซึ่งเป็นแหล่งผลิต "วาจิมะนูริ" (輪島塗) "ยามานากะชิกกิ" (山中漆器) "เอจิเซ็นชิกกิ" (越前漆器) และ "คิชูชิกกิ" (紀州漆器) ตามลำดับ แหล่งผลิตแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น จำนวนครั้งในการทาแลคเกอร์ หรือการวาดลวดลายลงบนแลคเกอร์

▶ "Takumiichi" แบรนด์เอจิเซ็นชิกกิที่ BECOS×tsunagu Japan ภูมิใจนำเสนอ!

ข้อควรระวังและวิธีดูแลโทกิ จิกิ และชิกกิ

เกี่ยวกับการใช้งานในไมโครเวฟ

・โทกิ
เนื่องจากโทกิแข็งแรงน้อยกว่าจิกิ หากใช้งานกับไมโครเวฟบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดรอยร้าวหรือแตกได้ จึงควรระวังในจุดนี้ด้วย

จิกิ
โดยทั่วไป จิกิสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ไม่มีปัญหา ยกเว้นในกรณีที่มีการประดับด้วยลวดลายที่ทำจากโลหะอย่างเงินหรือทอง

・ชิกกิ
เนื่องจากชิกกิค่อนข้างบอบบางต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นอย่างมาก จึงห้ามนำเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด

* ควรอ่านคู่มือให้ดีก่อนใช้งานสินค้าทุกประเภท

เกี่ยวกับการใช้งานในเครื่องล้างจาน

・โทกิและจิกิ
โดยพื้นฐานแล้วโทกิและจิกิสามารถนำเข้าเครื่องล้างจานได้ แต่จะมีโทกิบางประเภทที่อาจต้องระวัง คือ โทกิในกลุ่มที่ทำขึ้นด้วยวิธี "ซุยากิ" (素焼き) ซึ่งไม่มีการทายูยาคุ และแบบ "ยาคิชิเมะ" (焼き締め) ซึ่งเผาขึ้นรูปด้วยความร้อนสูงโดยไม่ใช้ยูยาคุเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บิเซ็นยากิหรือชิการากิยากิ

โทกิเหล่านี้อาจไม่เหมาะที่จะใช้กับเครื่องล้างจาน เนื่องจากตัวภาชนะอาจเกิดรอยร้าวหากต้องเจอกับสภาพอากาศที่แห้งเกินไป อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ล้างแก้วและจานชิการากิยากิด้วยเครื่องล้างจานที่บ้านเป็นประจำ ก็ยังไม่เคยพบเหตุการณ์ที่ภาชนะร้าวหรือเปลี่ยนรูปเลยสักครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลในจุดนี้ให้มากก็ได้ ※

・ชิกกิ
ควรหลีกเลี่ยงการนำเข้าเครื่องล้างจานให้มากที่สุด เนื่องจากชิกกิทำจากไม้ จึงอาจมีกรณีที่ไม่สามารถทนการเป่าแห้งหรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของเครื่องล้างจานได้ ฟังก์ชันเหล่านี้อาจทำให้แลคเกอร์ที่เคลือบอยู่ลอกออก หรืออาจทำให้ตัวภาชนะเปลี่ยนรูปไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในพักหลังนี้ก็มีชิกกิที่ทำขึ้นด้วยเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้สามารถใช้กับเครื่องล้างจานได้อยู่เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงชิกกิแพงๆ เท่านั้น สินค้าอย่างในภาพด้านล่างนี้ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้เครื่องล้างจานเช่นกัน

Masno เครื่องเขินเอจิเซ็น ถ้วยซุปสไตล์เกียวโต สีแดงโบราณ ใช้กับเครื่องล้างจานได้

ที่มา: Amazon.co.jp
ช้อปเลย!

วิธีดูแลรักษา

วิธีดูแลโทกิ

เนื่องจากโทกิมีการใช้ประโยชน์จากความเป็นดิน พื้นผิวของมันจึงมีรูเล็กๆ อยู่มากมาย ในบางครั้ง สีหรือกลิ่นของอาหารก็อาจลงไปติดในรูเหล่านี้ได้ จึงควรทำความสะอาดให้เร็วที่สุดหลังใช้เสร็จ และหากมีลวดลายที่เขียนอยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาวด้วยเพราะอาจทำให้สีลอก

วิธีดูแลจิกิ

เมื่อเทียบกับโทกิและชิกกิแล้ว จิกิสามารถล้างได้อย่างสบายใจกว่าโดยไม่จำเป็นต้องระวังอะไรมาก แต่จิกิไม่ค่อยทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อน พื้นผิวที่เรียบลื่นของมันก็ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เพียงใช้น้ำยาล้างจานก็สามารถขจัดสิ่งสกปรกได้แล้ว

สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้างจาน การเลือกใช้ถ้วยชามจิกิเป็นหลักก็จะช่วยให้ล้างจานได้สะดวกยิ่งขึ้น

วิธีดูแลชิกกิ

ชิกกิเป็นภาชนะที่บอบบางมาก จึงไม่ควรล้างด้วยน้ำร้อนเป็นอันขาด ควรล้างด้วยน้ำอุ่นๆ ที่อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ การแช่ในน้ำนานๆ ก็อาจทำให้ตัวภาชนะเปลี่ยนรูปได้ ดังนั้น เมื่อล้างเสร็จจึงควรเช็ดน้ำออกทันทีและปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติ

ในส่วนของฟองน้ำจะสามารถใช้ได้หากเป็นฟองน้ำแบบนิ่ม แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงฟองน้ำแบบในรูปด้านบนที่มีฝั่งแข็งติดมาด้วย เนื่องจากสามารถทำให้ส่วนเคลือบเงาของชิกกิหลุดลอกได้ง่ายๆ (※ ชิกกิที่ผู้เขียนใช้งานมานานหลายปีก็พังไปด้วยสาเหตุนี้เช่นกัน)

ทำความเข้าใจข้อดีและจุดเด่นของภาชนะแต่ละประเภท และแยกใช้ให้ถูกต้องกันเถอะ!

ไม่ว่าจะเป็นโทกิ จิกิ หรือชิกกิ ก็ล้วนมีข้อดีและจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ลองเลือกใช้ตามความเหมาะสมเพื่อให้เข้ากับวิธีใช้หรือประเภทของอาหาร รับรองว่าโต๊ะอาหารของคุณจะต้องมีสีสันขึ้นอย่างแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเคียว/เครื่องคิโยมิสุ” เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องลายครามญี่ปุ่น

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินฮิดะชุนเค” งานฝีมือล้ำค่าของญี่ปุ่น

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCategory_tableware (อาหารเย็น)Japanese culture/experiencesProduct care tips