Japanese Crafts: A Guide to Wakasa Lacquerware

เครื่องเขินวากาสะ (若狭塗 Wakasanuri) เป็นงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมจากจังหวัดฟุคุอิ ภูมิภาคโฮคุริคุ เป็นเครื่องเขินที่มีลวดลายสวยงามชวนให้นึกถึงใต้ทะเลและท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เครื่องเขินวากาสะก็เริ่มเป็นที่จับตามองและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่ดีไซน์ที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีความทนทานสูงและใช้ง่ายอีกด้วย ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำประวัติความเป็นมาและลักษณะเฉพาะ รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตเครื่องเขินวากาสะกัน

ประวัติของเครื่องเขินวากาสะ

"เครื่องเขินวากาสะ" เป็นเครื่องเขินที่ทำในแถบเมืองโอบามะ จังหวัดฟุคุอิ โดดเด่นด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งชวนให้นึกถึงผืนน้ำใต้ทะเลโดยใช้เปลือกไข่ เปลือกหอย และใบสนในการตกแต่ง เครื่องเขินวากาสะได้รับการยอมรับในฐานะงานศิลปะชั้นสูง เนื่องจากมีความงดงามและให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง นอกจากนี้ เพราะมีความทนทานและง่ายต่อการใช้งาน ผู้คนในยุคปัจจุบันจึงนิยมใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น จนได้ข้อสรุปว่า กว่า 80% ของตะเกียบสีเคลือบเงาที่ผลิตในญี่ปุ่นนั้น เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเขินวากาสะนั่นเอง 

เครื่องเขินวากาสะ มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะตอนต้น (ค.ศ. 1603 - 1868) ว่ากันว่าในเวลานั้น มัตสึอุระ ซันจูโร่ (松浦三十郎) ช่างเคลือบสีจากแคว้นโอบามะ (เมืองโอบามะ จังหวัดฟุคุอิในปัจจุบัน) ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องเขินมาจากสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลของอ่าววากาสะ (อ่าวที่สร้างภูมิประเทศชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดฟุคุอิไปจนถึงจังหวัดเกียวโต) โดยอ้างอิงจากเครื่องเขินของประเทศจีน

มัตสึอุระได้ทำการปรับปรุงแก้ไขหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้เทคนิค "คิคุจินนุริ (菊塵塗)" ที่เป็นการออกแบบลวดลายจากความสวยงามใต้ท้องทะเลจนสำเร็จ หลังจากนั้น นิชิวากิ มอนเอมอน (西脇紋右衛門) ลูกศิษย์ของมัตสึอุระก็ได้คิดค้นเทคนิค "อิโซคุสะนุริ (磯草塗)" ที่มีลวดลายเหมือนระลอกคลื่นที่กระทบชายฝั่งขึ้นมา

ตั้งแต่ช่วงกลางถึงครึ่งหลังของยุคเอโดะ (ค.ศ. 1650 - 1800) เครื่องเขินวากาสะได้มาถึงจุดสูงสุด ในช่วงกลางของสมัยเอโดะ มีการใช้เปลือกไข่และแผ่นทองคำเปลวในการสร้างลวดลายเหมือนกับที่ใช้ในปัจจุบัน และเทคนิคอิโซคุสะนุริก็ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในยุคนี้ด้วยเช่นกัน โดยซาไก ทาดาคัตสึ (酒井忠勝) ผู้ปกครองแคว้นโอบามะในสมัยนั้นตั้งชื่องานหัตถกรรมนี้ว่า "วาคาสะนูริ" (若狭塗) พร้อมสนับสนุนให้ทำเป็นงานเสริมของเหล่าซามูไรระดับล่าง เกิดเป็นช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญมากมาย และมีการสรรค์สร้างผลงานจำนวนมาก

เดิมที เครื่องเขินวากาสะนั้นถือเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชนชั้นสูง มีการผสมผสานเทคนิคการตกแต่งเพื่อเพิ่มความหรูหราและประกายงดงามเข้าไปด้วยเทคนิคอย่าง "ราเด็น" (螺鈿) ซึ่งเป็นการตกแต่งลวดลายด้วยด้านในของเปลือกหอยทะเลที่เป็นสีเหลือบรุ้ง และ "มิคิเอะ" (蒔絵) เทคนิคการทำลวดลายให้โดดเด่นด้วยการโรยผงเงินผงทองลงบนภาพที่วาดด้วยสีกึ่งโปร่งแสง เป็นต้น

เมื่อมาถึงยุคเมจิ (ค.ศ 1868 - 1912) ก็ได้มีการเปิดตลาดค้าขายไปยังต่างประเทศ และใน ค.ศ. 1878 เครื่องเขินวากาสะก็ถูกนำไปจัดแสดงในงาน Exposition Universelle ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้เริ่มต้นการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศในปี ค.ศ. 1883 ทำให้ได้รับความสนใจในฐานะสินค้าหัตถกรรมตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น

ลักษณะเฉพาะของเครื่องเขินวากาสะ

ลักษณะเฉพาะตัวของเครื่องเขินวากาสะ คือ มีการใช้เปลือกไข่หรือเปลือกหอยมาสร้างเป็นลวดลายที่สวยงามมีเอกลักษณ์ ส่องประกายอยู่บนพื้นผิวสีดำ จนดูราวกับการผสมผสานระหว่างความงดงามใต้ท้องทะเลและผืนฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว เครื่องเขินวากาสะมีการสร้างลวดลายโดยการฝังเปลือกหอยหรือเปลือกไข่ลงบนผิวไม้ที่ลงแลกเกอร์แล้ว จากนั้นจึงใช้เทคนิคที่เรียกว่า "โทงิดาชิ" (研ぎ出し) ในการทาสีทับซ้ำหลายๆ ครั้ง และขัดออกด้วยหินหรือถ่าน


เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ลวดลายที่ถูกฝังอยู่ใต้สีก็จะปรากฏออกมา ทำให้เกิดเป็นเครื่องเขินที่แฝงความเป็นศิลปะชั้นสูงและความสง่างามออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ กระบวนการการผลิตที่พิถีพิถันนี้ใช้เวลาในการผลิตมากกว่า 1 ปี ทำให้ได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มีความทนทานต่อน้ำและความร้อนสูง ทั้งยังแตกหักยาก และสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเยี่ยม

การผลิตเครื่องเขินวากาสะนั้นจะไม่ใช้ระบบแบ่งหน้าที่ (วิธีแบ่งงานแบบ 1 คนต่อ 1 ขั้นตอนการผลิต) แต่จะเป็นการใช้ช่างฝีมือคนเดียวในการทำกระบวนการทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 60 ขั้น แต่สามารถแบ่งอย่างคร่าวๆ ได้เป็น 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ :

・นุโนะบาริ (布貼り)
ขั้นตอนเสริมความทนทานให้แก่ตัวไม้โดยการแปะผ้าหรือกระดาษญี่ปุ่นลงไป

・ชิตะจิสึเคะ (下地付け)
นำสีรองพื้นที่ผสมด้วยกาว ดินเหนียว และแลกเกอร์ทาลงไปบนชิ้นงาน เพื่อเป็นการเตรียมพื้นผิว

・นากะนุริ (中塗り)
นำชิ้นงานที่สีแห้งแล้วมาขัดผิวให้เรียบด้วยหินลับ จากนั้นก็ทาแลกเกอร์เพื่อเตรียมลงลวดลาย

・โมโยสึเคะ (模様付け)
ขั้นตอนการลงแลกเกอร์และตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เช่น เปลือกไข่ เปลือกหอย เป็นต้น

・ไอนุริ, นุริโคมิ (合塗り, 塗込み)
นำชิ้นงานที่ลงลวดลายเสร็จแล้วมาทาแลกเกอร์และขัดผิว ทำซ้ำกันหลายๆ ครั้ง

* ไอนุริ เป็นเทคนิคการใช้แลกเกอร์สีตั้งแต่ 2 สีขึ้นไปมาทาทับกัน ทำให้เกิดความเงางามและได้เฉดสีที่เป็นเอกลักษณ์

・อิชิโทกิ, สุมิโทกิ (石研ぎ, 炭研ぎ)
ขั้นตอนการขัดขึ้นลาย โดยใช้หินลับหลายชนิดขัดจนกว่าจะขึ้นลายชัดเจนตามด้วยขัดผิวให้เรียบด้วยถ่าน

・มิกาคิ (磨き)
ขัดพื้นผิวด้วยน้ำมันหรือน้ำยาขัดเงา

เครื่องเขินวากาสะในปัจจุบัน

ในสมัยเอโดะ เครื่องเขินวากาสะถือเป็นของใช้ชั้นสูงที่มีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็มักจะตกเป็นของผู้ครองแคว้น ขุนนาง และคหบดีต่างๆ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มีการพัฒนาสีเคมีขึ้น ทำให้เกิดการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ จึงสามารถผลิตสินค้าที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันกันได้มากขึ้น

ใน ค.ศ. 1978 เครื่องเขินวากาสะได้รับการรับรองว่าเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมที่กำหนดโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม จากนั้นใน ค.ศ. 2008 ญี่ปุ่นได้มอบตะเกียบซึ่งเป็นงานเครื่องเขินวากาสะให้แก่ บารัค โอบาม่า ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ทำให้เครื่องเขินวากาสะกลายเป็นตัวแทนของงานหัตถกรรมดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นไป

ในปัจจุบัน เครื่องเขินวากาสะมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น ชาม ถาด และสินค้าเบ็ดเตล็ดขนาดเล็ก แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ตะเกียบ เนื่องจากรูปร่างของตะเกียบนั้นมีปลายเรียวแหลม จนถูกขนานนามว่า "จะงอยปากนกกระเรียน" ซึ่งคนมักจะซื้อให้กันเป็นของขวัญโดยมีความหมายแฝงเป็นการอวยพรให้มีอายุยืนยาว

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินฮิดะชุนเค” งานฝีมือล้ำค่าของญี่ปุ่น

▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินสึงารุ” งานหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

แนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องเขินวากาสะ

WAKASA-NURI ตะเกียบสีแดง เงางามเป็นประกาย พร้อมลวดลายทันสมัย

ตะเกียบผิวมันวาว ตกแต่งปลายด้ามจับด้วยชิ้นส่วนสีทองที่ส่องประกายแวววาวตัดกับสีแดง ดูสวยงามทันสมัย นอกจากนี้ ยังมีตะเกียบ สีดำ ที่ตกแต่งด้วยสีเงินในตำแหน่งเดียวกันด้วย จะซื้อแยกหรือซื้อเป็นคู่ก็คุ้มค่าเป็นอย่างมาก

ช้อปเลย!

WAKASA-NURI ชุดตะเกียบคู่ ลายเปลือกหอย

ตะเกียบคู่ "เมโอโตะบาชิ" (夫婦箸 ตะเกียบคู่ชาย - หญิง โดยของผู้หญิงจะเป็นคู่ที่สั้นกว่า) ที่ใส่เทคนิคราเด็นเพื่อเพิ่มความสวยงามในแบบฉบับของเครื่องเขินวากาสะให้เด่นชัด เนื่องจากตะเกียบเปรียบเสมือนเครื่องรางนำโชค จึงเหมาะแก่การมอบให้กันเป็นของขวัญ

ช้อปเลย!

บทความที่เกี่ยวข้อง:

▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

Category_articlesCategory_tableware (อาหารเย็น)Craft guide