เมื่อพูดถึงงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น หลายๆ คนอาจนึกถึงตุ๊กตาโคเคชิ ชุดยูคาตะ หรือกิโมโนจากผ้าทอนิชิจินโอริ (
西陣織) แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นยังมีงานฝีมือดั้งเดิมอีกมากมายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแน่นแฟ้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่อะไรกันล่ะที่ทำให้ของเหล่านี้ถูกยกเป็นงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น? ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจนิยามดังกล่าว รวมถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังงานฝีมือเหล่านี้กัน
เกี่ยวกับงานฝีมือดั้งเดิม
โดยทั่วไป "งานฝีมือดั้งเดิม" จะหมายถึงงานฝีมือที่สืบสานกันมาในแต่ละพื้นที่โดยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของญี่ปุ่น
หากอ้างอิงตามนิยามของ "กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือดั้งเดิม ค.ศ. 1974" ก็จะกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นมี "งานฝีมือดั้งเดิม" อยู่ทั้งหมด 235 รายการ (※)
งานฝีมือดั้งเดิมบางประเภทเป็นของที่นิยมใช้เป็นของถวายมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีงานฝีมือดั้งเดิมจำนวนมากที่ถึงแม้จะมีมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังถูกยกให้เป็น "สมบัติแห่งชาติ" หรือ "ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญ" ในปัจจุบันอยู่ แสดงให้เห็นถึงความหายากและคุณค่าทางศิลปะของชิ้นงานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ งานฝีมือดั้งเดิมที่ใช้งานสะดวกและมีคุณภาพสูงซึ่งสืบทอดมาถึงยุคปัจจุบันในฐานะของฝากก็มีอยู่มากมายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น "โอดาเตะมาเกวัปปะ" (大館曲げわっぱ) ที่เราจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปก็เป็นกล่องข้าวเบนโตะคุณภาพดีที่ทำจากไม้ซีดาร์อาคิตะซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นในอาหารได้ ทำให้อาหารอร่อยแม้เวลาจะผ่านไปนาน นอกจากนี้ก็ยังมี "ซะไกอุจิฮาโมโนะ" (堺打刃物) หรือที่รู้จักกันในฐานะ "มีดทำครัวญี่ปุ่น" (
和包丁) ที่เป็นงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยทักษะการตีเหล็กชั้นสูงในการทำใบมีด และมีความคมในระดับที่มีดเซรามิกไม่สามารถเทียบได้ ประสิทธิภาพและคุณภาพเหล่านี้ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานฝีมือดั้งเดิมญี่ปุ่นเลยทีเดียว
งานฝีมือดั้งเดิมล้วนฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์และภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังโดดเด่นด้วยทักษะที่สืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น และอบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากมือของมนุษย์ที่เครื่องจักรไม่สามารถเลียนแบบได้
(※) อัพเดทข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021
งานฝีมือดั้งเดิมตามนิยามของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
ใน ค.ศ. 1974 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม') ได้ออก "กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือดั้งเดิม" ที่ระบุเงื่อนไขสำคัญของการเป็นงานฝีมือดั้งเดิมไว้ดังนี้:
1. เป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก
2. ขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่ทำขึ้นด้วยมือมนุษย์
3. ผลิตด้วยกรรมวิธีหรือทักษะดั้งเดิม
4. ผลิตโดยวัสดุหลักที่ใช้กันมาแต่โบราณ
5. มีผู้ผลิตหรือผู้มีส่วนร่วมในการผลิตจำนวนหนึ่งในพื้นที่แหล่งผลิต
(อ้างอิง: เว็บไซต์กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม)
หากเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้:
1. เป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก
ถึงแม้จะเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมที่จัดขึ้นปีละหลายๆ ครั้งหรือเป็นของที่ใช้เพียงครั้งเดียวในชีวิต อย่างงานศพหรือเทศกาลประจำฤดูกาล แต่หากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติในครัวเรือนทั่วไป ก็ถือว่ารวมอยู่ในหมวด "ชีวิตประจำวัน" ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ งานฝีมือยังสามารถเรียกได้ว่าเป็น "ความงดงามในการใช้งาน" ด้วย เพราะเมื่อผ่านมือและสายตาของผู้คนจำนวนมาก ความสะดวกในการใช้งานและความสมบูรณ์แบบของมันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งสี ลวดลาย และรูปร่างของมันยังมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งด้วย2. ขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่ทำขึ้นด้วยมือมนุษย์
ถึงแม้จะไม่จำเป็นต้องทำด้วยฝีมือมนุษย์ทั้งหมด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ เช่น คุณภาพ รูปร่าง หรือดีไซน์จะต้องทำขึ้นด้วยมือของมนุษย์ และสามารถใช้เครื่องจักรได้ในขั้นตอนที่มีจุดประสงค์เป็นการรักษาและส่งเสริมคุณลักษณะดังกล่าวเท่านั้น
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องผ่านขั้นตอนที่ทำด้วยมือของมนุษย์ จึงมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมตามหลักสรีรวิทยา อีกทั้งยังใช้งานได้อย่างปลอดภัยด้วย3. ผลิตด้วยกรรมวิธีหรือทักษะดั้งเดิม
คำว่า "ดั้งเดิม" ในที่นี่หมายถึงการสืบทอดที่มีระยะเวลานานกว่า 100 ปี โดยมีพื้นฐานมาจากความคิดว่ากรรมวิธีและทักษะในการผลิตงานฝีมือดั้งเดิมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับปรุง และลองผิดลองถูกมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถแยกคำว่าทักษะและกรรมวิธีออกจากกันได้ แต่ก็สามารถแบ่งได้ว่า ทักษะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "ความแม่นยำ" และ "ทักษะของผู้ผลิตแต่ละคน" ในขณะที่กรรมวิธีจะเกี่ยวข้องกับ "การสั่งสมความรู้ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุไปจนถึงการผลิต"
ทักษะและกรรมวิธีดั้งเดิมเหล่านี้สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน หรือทำให้จุดเด่นของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป
4. ผลิตโดยวัสดุหลักที่ใช้กันมาแต่โบราณ
เช่นเดียวกับข้อ 3. วัสดุที่ใช้จะต้องผ่านการคัดสรรและเป็นของที่ใช้กันมาอย่างยาวนานเกิน 100 ปี รวมทั้งต้องเป็นมิตรกับมนุษย์และธรรมชาติด้วย ในกรณีของวัสดุหายากหรือของที่ไม่สามารถหาได้แล้ว ก็สามารถแทนที่ด้วยวัสดุชนิดเดียวกันที่จะไม่ทำให้จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ต้องเปลี่ยนแปลงไปได้
5. จัดตั้งพื้นที่การผลิต
งานฝีมือดั้งเดิมจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่การผลิตที่เฉพาะเจาะจงและมีจำนวนผู้ผลิตมากในระดับหนึ่ง คือ ประมาณ 10 บริษัทหรือ 30 คนขึ้นไป เพราะนอกจากความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบในระดับบริษัทแล้ว ตัวแหล่งผลิตก็ต้องมีความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน
(อ้างอิง: เว็บไซต์สมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือดั้งเดิม)
งานฝีมือดั้งเดิมที่อยู่นอกเหนือคำนิยาม
งานฝีมือดั้งเดิมนอกเหนือจากคำนิยามข้างต้นก็มีอยู่มากมายทั่วญี่ปุ่นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ตรงเงื่อนไขในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "นิชิจิมะวาชิ" (西嶋和紙) ที่เห็นในคลิปด้านบน ซึ่งเป็นกระดาษญี่ปุ่นที่ผลิตในภาคตะวันตกของจังหวัดยามานาชิมาตั้งแต่สมัยโบราณ
แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญที่คอยผลิตงานฝีมือดั้งเดิมที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง
บทความที่เกี่ยวข้อง: ▶ รู้จักกับงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น: นิชิจิมะวาชิที่หนาเพียง 0.1 มม.
งานฝีมือดั้งเดิมในปัจจุบัน
ความต้องการที่น้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ในช่วงปีโชวะที่ 30 (ค.ศ. 1955 - 1965) เป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ญี่ปุ่นมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบผลิตมากบริโภคมาก นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์ราคาถูกแบบใช้แล้วทิ้งก็เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่างานฝีมือดั้งเดิมที่มีราคาสูง นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตให้เป็นแบบตะวันตกซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้ งานฝีมือดั้งเดิมที่ฝังรากลึกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ได้อย่างยาวนานนั่นเอง
การขาดแคลนวัสดุและผู้สืบทอด
การจะเป็นช่างฝีมือได้นั้น จำเป็นต้องผ่าน "ระบบลูกศิษย์" ที่ใช้เวลาอบรมและฝึกฝนอยู่นาน และเนื่องจากเป็นระบบโบราณที่แตกต่างจากการฝึกงานในยุคปัจจุบัน จึงส่งผลให้บุคลากรที่ต้องการเป็นช่างฝีมือลดจำนวนลง ในขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยอย่างการเป็นยุคสมัยที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดก็ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ช่างฝีมือซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันการเลิกจ้าง หรือวันลาหยุด จึงได้รับความนิยมน้อยลงตามไปด้วย
แม้แต่ในปัจจุบัน ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ สำหรับงานฝีมือดั้งเดิมที่มีกำลังการผลิตน้อย
นอกจากนี้ ยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดยังส่งผลให้อุตสาหกรรมหลักอย่างเกษตรกรรมมีส่วนแบ่งในตลาดน้อยลง ทำให้เกิดการขาดแคลนวัสดุทำงานฝีมือดั้งเดิมอย่างแลคเกอร์ ไม้ และเส้นไหมดิบ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังหาทางแก้ไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
ความยากของ "งานฝีมือดั้งเดิม"ตามนิยามของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
เนื่องจากมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างวิธีการผลิตเอาไว้อย่างละเอียด หากผิดไปเพียงเล็กน้อยก็จะไม่สามารถจัดเป็นงานฝีมือดั้งเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ ผลงานที่ช่างหนุ่มสาวสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือพยายามเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ลงไปจึงไม่ได้รับการรับรองให้เป็นงานฝีมือดั้งเดิม ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีความยากลำบากในหลายๆ ด้าน
ส่งท้าย
แม้จะมีความท้าทายอยู่รอบด้าน แต่งานฝีมือดั้งเดิมญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการอุดหนุนธุรกิจขนาดเล็ก และปกป้องสภาพแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมญี่ปุ่นให้คงอยู่สืบไป พวกเขาจึงเลือกซื้องานฝีมือดั้งเดิมแทนผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่ใช้แล้วทิ้ง เราหวังว่ากระแสนี้จะคงอยู่ต่อไป และทำให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสัมผัสกับงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
▶ คู่มือแนะนำงานฝีมือญี่ปุ่นดั้งเดิม (ฉบับสมบูรณ์)
▶ “งานฝีมือญี่ปุ่น” แนะนำ สิ่งทอ เซรามิก ตุ๊กตา โคเคชิ และอีกมากมาย!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ