เครื่องเขินเอจิเซ็น (越前漆器) งานฝีมือที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,500 ปี เป็นงานหัตถกรรมโดยช่างฝีมือมากประสบการณ์ และมีความสวยสง่าคู่กับแลกเกอร์เงางามเป็นเอกลักษณ์ เครื่องเขินชนิดนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองซาบาเอะ (鯖江) จังหวัดฟุคุอิ ซึ่งอยู่เหนือบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชู และมีการผลิตเป็นสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ของตกแต่งในงานเลี้ยง กล่องขนมหวาน กล่องข้าวเบนโตะ เครื่องชงชา ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างตะเกียบและถ้วยชาม
ปัจจุบันเครื่องเขินเอจิเซ็นได้มีการผลิตและพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น เช่น เครื่องเขินที่สามารถใช้กับเครื่องล้างจานได้ เป็นต้น และเครื่องเขินเอจิเซ็นก็นับเป็นหนึ่งในงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่กำหนดโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นอีกด้วย
ประวัติเครื่องเขินเอจิเซ็น
เครื่องเขินเอจิเซ็นมีต้นกำเนิดในสมัย 1,500 ปีก่อน ณ หมู่บ้านคาตายามะ (片山) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซาบาเอะในปัจจุบัน ในเวลานั้น จักรพรรดิลำดับที่ 26 หรือจักรพรรดิเคไต (継体天皇) ที่ยังเป็นเจ้าชายอยู่ได้สั่งให้ช่างเคลือบมาซ่อมแซมมงกุฎให้ และเกิดความประทับใจในงานฝีมือประเภทนี้ จึงสนับสนุนการผลิตเครื่องเขิน การบูรณะด้วยแลกเกอร์ และการเคลือบภาชนะถ้วยชามด้วยสีดำ
ถึงแม้ว่าการเคลือบแลกเกอร์จำเป็นต้องใช้ยางไม้ในปริมาณมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะช่างฝีมือที่อยู่ในเมืองเอจิเซ็นต่างก็มียางไม้นี้กันอยู่แล้ว ว่ากันว่าในสมัยของโชกุนโทคุกาว่า (徳川幕府) รัฐบาลกลางได้ออกคำสั่งให้เอจิเซ็นเก็บยางไม้ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้สร้างศาลเจ้านิกโก้โทโชกุ (日光東照宮) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นมรดกโลกที่สำคัญของจังหวัดโทชิกิ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่าแลกเกอร์ของเอจิเซ็นนั้นมีคุณค่าสูงขนาดไหน
นอกจากนี้ "ช่างไม้" ก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อเครื่องเขินเอจิเซ็นมากเช่นกัน ว่ากันว่า "โคเรทากะ ชินโน" (惟喬親王 ค.ศ. 844 - 897) หนึ่งในเชื้อพระวงศ์ที่มาใช้ชีวิตเกษียณอย่างสงบในเมืองเอจิเซ็นนั้น ได้ถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูปไม้โดยใช้ล้อหมุน "โรคุโระ" (ろくろ) ของช่างปั้นหม้อให้กับคนในพื้นที่ และส่งเสริมการผลิตชามและถาดจนเกิดเป็นอาชีพช่างไม้ที่เรียกว่า "คิจิชิ" (木地師) ขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ โคเรทากะจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของช่างไม้ และยังเป็นเทพประจำ "ศาลเจ้าคาตายามะชิกกิ" (片山漆器神社) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1221 ด้วย
เดิมทีเครื่องเขินเอจิเซ็นมักทำเป็นทรงกลม อย่างถ้วยชาม เป็นต้น แต่ในช่วงหลัง ค.ศ. 1868 ก็ได้เริ่มมีการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งสินค้าทรงเหลี่ยม อย่างกล่องใส่ข้าวสุก (おひつ) หรือกล่องเบนโตะที่เป็นเถาปิ่นโตทรงเหลี่ยม (重箱) รวมไปถึงสินค้าชนิดอื่น เช่น แจกันและถาด เป็นต้น
เมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นก็เริ่มมีการขยายไลน์การผลิตไปยังสินค้าเชิงธุรกิจต่างๆ เช่น อุปกรณ์สำหรับโรงแรมหรือร้านอาหาร เครื่องเขินนี้ถูกเรียกตามชื่อแหล่งผลิตว่า "คาวาดะนูริ" (河和田塗) และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ลักษณะเด่นของเครื่องเขินเอจิเซ็น
เครื่องเขินเอจิเซ็นผลิตขึ้นด้วยความร่วมมือของช่างฝีมือหลายคน จนกล่าวได้ว่าฝีมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของช่างฝีมือทุกคนคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในปัจจุบัน ผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลิตเครื่องเขินนี้ประกอบไปด้วยช่างไม้ (คิจิชิ) ช่างเคลือบ (塗り職人) และช่างตกแต่งที่ชำนาญการวาดลวดลายแล้วปิดด้วยเงินหรือทอง จนกล่าวได้ว่าการที่เครื่องเขินเอจิเซ็นมีเอกลักษณ์ทางโครงสร้างที่แข็งแรงและสง่างามนั้น เป็นผลมาจากความร่วมมือของช่างฝีมือจำนวนมากนั่นเอง
ไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเขินเป็นไม้ที่มีความทนทาน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไม้โทจิ (トチ) ไม้มิซูเมะ (ミズメ) ไม้เคยากิ (ケヤキ) และไม้คัทซึระ (カツラ) ช่างไม้จะประเมินคุณภาพของไม้เหล่านี้อย่างรอบคอบและตัดไม้อย่างแม่นยำให้ได้เป็นขนาดที่ต้องการ จากนั้น พวกเขาจะทำการเสริมความแข็งแรงและปรับพื้นผิวของไม้ตรงบริเวณรอยต่อ จัดการกับรอยขีดข่วนและรูต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ขั้นตอน 2 ขั้นแรกจึงถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการผลิตไม้ที่สมบูรณ์แบบในภายหลัง
เมื่อจัดการกับสภาพไม้เรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนในการทำเครื่องเขิน ช่างฝีมือจะต้องทาแลกเกอร์ทีละชั้น และรอให้แห้งก่อนทาทับอีกครั้งเพื่อให้แลกเกอร์แข็งตัว แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับกระบวนการนี้ คือ ช่างเคลือบจะต้องคาดคะเนเวลาที่ใช้ในการรอแลกเกอร์แห้งซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น สภาพอากาศ ความชื้น ฯลฯ
นายช่างจะต้องเคลือบชั้นล่าง - กลาง - บนซ้ำไปซ้ำมา และต้องทาให้มีความหนาที่สม่ำเสมอเพื่อให้ได้ชั้นแลกเกอร์ที่มีความสม่ำเสมอด้วย เป็นทักษะชั้นสูงที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักทีเดียว
ขั้นตอนสุดท้ายคือการตกแต่ง ช่างฝีมือจะโรยผงเงินผงทองด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "มาคิเอะ" (蒔絵) ติดทองคำเปลวลงบนลวดลายที่แกะสลักไว้ แล้วประดับด้วยเปลือกหอยสีเหลือบรุ้งตามสไตล์ของเทคนิค "ราเด็น" (螺鈿)
ด้วยกระบวนการผลิตที่อาศัยทักษะอันละเอียดอ่อนในทุกๆ ขั้นตอน จึงได้เป็นเครื่องเขินอันงดงามและน่าหลงใหล
เครื่องเขินเอจิเซ็นในปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่เครื่องเขินเอจิเซ็นได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรก (ค.ศ. 1975) และใน ค.ศ. 1990 ก็ได้มีการก่อตั้งสหกรณ์เครื่องเขินเอจิเซ็นขึ้น โดยมีจุดประสงค์เน้นการเปิดตลาดใหม่ และจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดแสดงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในงานแสดงของขวัญระดับนานาชาติ (International Gift Show)
ในปัจจุบัน เครื่องเขินเอจิเซ็นมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ อย่างตะเกียบ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างกรอบรูป นอกจากนี้ คุณยังสามารถเดินทางไปชมเครื่องเขินได้ตามพิพิธภัณฑ์และงานนิทรรศการต่างๆ หรือเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อสัมผัสประสบการณ์การวาดภาพและตกแต่งเครื่องเขินจริงๆ ได้อีกด้วย
เครื่องเขินเอจิเซ็นมีสินค้าอยู่หลายประเภท ทุกชิ้นล้วนมีทั้งการตกแต่งในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สไตล์ที่ดูงดงามหรูหรา ไปจนถึงแบบเรียบง่ายสบายตา หากสนใจจะเก็บเป็นของสะสมก็น่าสนุกไม่น้อย!
สินค้าแนะนำ - เครื่องเขินเอจิเซ็น
Thermo Mug Urushi Umbrella Bottle Treasure Exhaustion (สีแดง)
กระติกน้ำทรงร่มนี้เต็มไปด้วยภาพของสิ่งนำโชคต่างๆ ตั้งแต่ "ค้อนวิเศษ" (小槌) ที่เชื่อกันว่าเขย่าแล้วจะมีสมบัติออกมา, ยันต์โชคดี (開運招福), ต้นสน (松) ที่สื่อถึงการมีอายุยืนยาว, เครื่องแต่งกายของเทพเจ้ายามออกเดินทาง (神様の旅装束) ไปจนถึงยันต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเรียกความโชคดี (隠れ蓑)
เรียกได้ว่ามีความหมายดีๆ แฝงอยู่เต็มไปหมด นอกจากกระติกสีแดงแล้วก็ยังมีสีดำด้วยนะ!
Thermo Mug Lacquer Mobile Tumbler Arabesque (สีดำ)
แก้วทัมเบลอร์ขนาดพกพา มาพร้อมกับลวดลายมงคล รวมถึงเกลียวแบบอาหรับที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองและอายุที่ยืนยาวของตระกูล แก้วใบนี้เป็นสินค้าที่ผลิตร่วมกับบริษัท Thermos มีทั้งสีดำแบบชิคๆ และสีแดงสวยให้คุณเลือกซื้อได้ตามใจชอบ!
บทความที่เกี่ยวข้อง:
▶ คู่มือแนะนำ “เครื่องเขินวากาสะ” งานหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น
▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ