ฮากิยากิ (萩焼) เป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมพื้นเมืองที่ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมคัดสรรให้เป็นงานฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ผลิตขึ้นในจังหวัดยามากุจิซึ่งอยู่สุดปลายฝั่งตะวันตกของเกาะหลักญี่ปุ่น มีจุดเด่นอยู่ที่การตกแต่งที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป และรอยแตกที่เรียกว่า “คันนิว” (貫入) ซึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่างอัตราการหดตัวของยูยาคุ (釉薬 น้ำยาเคลือบ) และดินหยาบ ฮากิยากิได้รับความนิยมในฐานะอุปกรณ์ชงชามาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อใช้ไปนานๆ สีชาก็จะซึมเข้าไปตามรอยแตกคันนิวทำให้เกิดการเปลี่ยนสีและให้บรรยากาศที่เปลี่ยนไป นับเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นที่สุดของฮากิยากิเลยทีเดียว
ประวัติของฮากิยากิ
ฮากิยากิเป็นชื่อเรียกของเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในเมืองฮากิ จังหวัดยามากุจิ แน่นอนว่าใช้ดินเป็นวัสดุหลัก ถ้วยชาดินเผาเหล่านี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1863) ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า "หนึ่งคือราคุ สองคือฮากิ สามคือคาราสึ" (一楽・二萩・三唐津) ซึ่งเป็นการจัดอันดับถ้วยชาของคนรักการชงชาในสมัยโบราณ อันดับ 1 คือเครื่องปั้นดินเผาราคุยากิ (楽焼) จากจังหวัดเกียวโต อันดับ 2 คือฮากิยากิจากยามากุจิ และอันดับ 3 คือคาราสึยากิจากซากะนั่นเอง
โดยปกติแล้วฮากิยากิจะไม่มีลวดลายฉูดฉาดอะไร เน้นอาศัยความเรียบง่ายจากเนื้อสัมผัสของดินเป็นหลัก อีกทั้งยังมีลักษณะเด่นคือลวดลายคันนิวที่จะเปลี่ยนสีไปตามอายุการใช้งานอีกด้วย
หลังจากการต่อสู้ที่เซกิกาฮาระ (関ケ原の戦い) ใน ค.ศ. 1600 "โมริ เทรุโมโตะ" (毛利輝元) ซึ่งเป็นนักรบผู้ครองแคว้นได้ย้ายฐานที่ตั้งจากอากิ (安芸 ฮิโรชิม่าในปัจจุบัน) มายังฮากิ (萩 เมืองฮากิ จ. ยามากุจิในปัจจุบัน) จากนั้นใน ค.ศ. 1604 โมริ เทรุโมโตะก็ได้เชิญลี ชาคุโค (李勺光) และลี เคอิ (李敬) สองพี่น้องช่างฝีมือชาวเกาหลีมา แล้วสร้างโกะโยกามะ (御用窯 เตาเผาสำหรับทำเครื่องบรรณาการประจำแคว้น) ขึ้น ว่ากันว่าสองพี่น้องคู่นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของฮากิยากิ
ช่วง ค.ศ. 1853 - 1867 เมื่อเกิดการปฏิวัติเมจิและรัฐบาลเมจิจัดตั้งขึ้น โกะโยกามะก็ได้เปลี่ยนมาอยู่ใต้การครอบครองของเอกชนและประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการ อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ผู้คนมองหางานศิลปะพื้นเมืองน้อยลง แต่ในทางกลับกัน การผลิตฮากิยากลับขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ชงชา แก้วชา กระถาง หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน
ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา (ค.ศ. 1941 - 1945) มีช่างฝีมือที่ผันตัวไปเป็นนักเขียนมากขึ้นเรื่อยๆ และใน ค.ศ. 1957 ฮากิยากิก็ได้รับเลือกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ประจำจังหวัดยามากุจิ ต่อมาใน ค.ศ. 1970 และ 1983 ทายาทรุ่นที่ 10 และ 11 แห่งมิวะคิวเซ็ทสึ (三輪休雪 ชื่อเจ้าของเตาฮากิยากิประจำเมืองฮากิรุ่นแรกที่ได้รับการสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น) ก็ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ การเคลื่อนไหวของช่างยอดฝีมือเหล่านี้ทำให้ฮากิยากิได้รับการยอมรับมากขึ้น และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในยุคเอโดะ (ยุคที่โทคุงาวะ อิเอยาสุปกครองประเทศโดยมีเอโดะเป็นศูนย์กลาง) ฮากิยากิได้ถูกผลิตเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ปกครองแคว้น รวมถึงใช้เป็นเครื่องบรรณาการสำหรับส่งไปยังรัฐบาลเอโดะอันเป็นฐานบัญชาการของโชกุน ผู้ที่จะสามารถใช้ฮากิยากิได้จึงมีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้น คนธรรมดาไม่สามารถเอื้อมถึงได้
อุปกรณ์ชงชาฮากิยากิโดยเฉพาะถ้วยชานั้นได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ว่ากันว่าถูกใช้ในพิธีชงชาของผู้ปกครองแคว้นและโชกุนในสมัยก่อนด้วย
จุดเด่นของฮากิยากิ
ฮากิยากิใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของดินจนเกิดเป็นสัมผัสอันอ่อนโยน มีจุดเด่นเป็นรอยแตกคันนิวที่เกิดจากอัตราการหดตัวที่แตกต่างกันของดินหยาบและยูยาคุซึ่งเป็นสารเคลือบ เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะยิ่งทำให้ชาหรือเหล้าซึมเข้าไปในรอยแตกดังกล่าวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสี เรียกว่า "Hagi no Nanabake" (萩の七化け) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมในระดับประเทศ คำว่า Hagi หมายถึงฮากิยากิ ส่วน Nanabake เป็นละครคาบูกิที่นักแสดงจะเปลี่ยนชุดทั้งหมด 7 ครั้งในการแสดง
สุดยอดความลับที่ทำให้ฮากิยากิได้รับความนิยมเช่นนี้ คือ สีที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ภาชนะของคุณกลายเป็นภาชนะที่มีชิ้นเดียวในโลกนั่นเอง
ฮากิยากิไม่ได้มุ่งเน้นการวาดลวดลายตกแต่งที่สวยงาม แต่เน้นลักษณะที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากองค์ประกอบของดินที่ใช้หรือการเคลือบยูยาคุเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีการใช้ดินพิเศษ เช่น ดินมิชิมะ (三島土) ดินมิตาเคะ (金峯土) และดินไดโด (大道土) ในการสร้างผิวสัมผัส
ที่บริเวณก้นถ้วยชามักจะมีการสร้างรอยตัดเอาไว้ เรียกว่า "คิริโคได" (切り高台) คำว่าโคไดหมายถึงตัวฐานของถ้วยชาที่เอาไว้ตั้งโต๊ะ มีไว้เพื่อให้ประคองให้แก้วชาไม่ล้มได้โดยง่าย อีกทั้งยังนำความร้อนได้น้อยทำให้ไม่รู้สึกร้อนมือจนเกินไปเวลาถือด้วย อย่างไรก็ตาม การสร้างรอยตัดที่ตัวโคไดนั้นไม่ใช่ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของฮากิยากิแต่อย่างใด เพราะถ้วยชาฮากิยากิที่ไม่ตัดโคไดก็มีอยู่เช่นกัน
มีหลายทฤษฎีที่เล่าเกี่ยวกับที่มาของการตัดโคได หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีที่ว่าในตอนแรกนั้นสามัญชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ใช้เครื่องฮากิยากิ จึงมีการจงใจสร้างรอยตัดไว้ที่ฐานของแก้วเพื่อให้กลายเป็นของมีตำหนิ และสามัญชนสามารถใช้ได้นั่นเอง
สถานการณ์ปัจจุบันของฮากิยากิ
พิธีชงชาและเครื่องปั้นดินเผาเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1954 - 1970) ที่ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาฮากิยากิก็ได้รับเลือกให้เป็นงานศิลปะพื้นเมืองโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในค.ศ. 2002
ในปัจจุบันฮากิยากิการขยายไลน์การผลิตไปถึงแก้ว จาน และอื่นๆ นอกจากอุปกรณ์ชงชาเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีราคาถูกลง ทำให้ได้รับความนิยมมากในฐานะของใช้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือเพื่อผลิตสิ่งใหม่ๆ อย่างการร่วมมือกับโรงหมักสาเกในฮากิเพื่อผลิตภาชนะสาเก หรือการจับมือกับอินสตาแกรมเมอร์อีกด้วย
สินค้าแนะนำ!
SHOKEIAN Mikejima Small Tea Cup Set ออกแบบโดย Kaneta Keien (สีแดง)
ชุดกาน้ำชาและแก้วชา 2 ใบ จากแบรนด์ "Shokeian" (勝景庵) ซึ่งเป็นโรงผลิตฮากิยากิแห่งแรกที่เปิดกิจการมาตั้งแต่ค.ศ. 1817 ตัวกาน้ำชาใช้วิธีเจาะรูจำนวนมากเพื่อไม่ให้ใบชาญี่ปุ่นไหลออกมาด้วยโดยวิธีการนี้จะทำให้ใบชากระจายตัวได้มากกว่า และดึงรสชาติของใบชาญี่ปุ่นได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับกาน้ำชาที่ใช้ตะแกรงอะลูมิเนียม สำหรับราคาเท่านี้จึงถือว่าคุ้มค่ามาก
KEYUCA Hagiyaki Yubae Drinking Cup 150 มล. (สีชมพู)
ถ้วยชาขนาดเล็กสุดน่ารัก สีอ่อนสวยตามแบบฉบับฮากิยากิ คำว่า "Yubae" ที่เป็นชื่อสินค้านั้นหมายถึงอาทิตย์อัสดง รวมถึงแสงที่ส่องประกายของพระอาทิตย์ในยามเย็น ที่มาของชื่อคือสีชมพูที่ค่อยๆ ถูกไล่ขึ้นไปด้านบนทำให้นึกถึงแสงอาทิตย์ยามโพล้เพล้นั่นเอง ส่วนราคาก็น่าคบหาสุดๆ ไปเลย
▶ ค้นหางานศิลปะอื่นๆ ได้ที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง:
▶ คู่มือแนะนำ “มาชิโกะยากิ” เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น
▶ คู่มือแนะนำ ” เครื่องลายครามฮาซามิ” งานเซรามิกญี่ปุ่น (เครื่องปั้นดินเผา / พอร์ซเลน)
▶ คู่มือถ้วยชามญี่ปุ่น ข้อแตกต่างระหว่างโทกิ จิกิ และชิกกิ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมได้เลย!
* สินค้าบางชนิดอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ ดังนั้น กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของผู้ขายก่อนทำการสั่งซื้อ
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ