Japanese Knives

คุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกเมื่อได้ยินคำว่า "มีดทำครัวญี่ปุ่น" หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โฮโจ (Hocho)? บางทีคุณอาจจะนึกถึงดาบคาตานะของเหล่าซามูไร, มีดคุณภาพสูงของเชฟมืออาชีพ, มีดปังตอขนาดใหญ่ที่มักใช้ในการทำอาหารจีน ฯลฯ แต่ในบทความนี้ เราจะมาแก้ความเข้าใจผิดทั้งหมดด้วยข้อเท็จจริง 8 ประการที่คุณควรรู้เกี่ยวกับมีดทำครัวของญี่ปุ่น

1. มีดทำครัวญี่ปุ่นมีต้นกำเนิดมาจากดาบญี่ปุ่น

ดาบญี่ปุ่นอย่าง “คาตานะ” (Katana) มีความแตกต่างจากดาบของยุโรปตรงที่ดาบนี้จะให้ความสำคัญกับความคมมากกว่าขนาด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนญี่ปุ่นมีขนาดตัวค่อนข้างเล็ก (ช่วงระหว่าง 3 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริสตศตวรรษที่ 19 ความสูงเฉลี่ยของชายญี่ปุ่น คือ 155 - 160 ซม. ปัจจุบันความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 170 ซม.) คนที่ตัวเล็กเช่นนี้ไม่สามารถใช้ดาบของยุโรปที่มีขนาดใหญ่และหนักได้ แต่ถึงอย่างไร คนญี่ปุ่นก็ยังต้องมีอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ จึงได้คิดค้นดาบคาตานะที่มีจุดเด่นเป็นความคมและคล่องแคล่วขึ้นมา

ประวัติศาสตร์ของดาบญี่ปุ่นนั้นมีมาอย่างยาวนาน โดยก่อนศตวรรษที่ 3 ญี่ปุ่นได้เริ่มผลิตอาวุธดาบที่ทำจากเหล็กแต่มีลักษณะตรงแทนที่จะโค้งเหมือนดาบคาตานะแนวโค้งที่เรียกว่า "โซริ (Sori)" ที่ทำให้ผู้ใช้ดาบคาตานะฟาดฟันคู่ต่อสู้ขณะที่ดึงดาบออกได้ เป็นการสร้างความเสียหายให้ได้มากที่สุดโดยใช้กำลังน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โซริเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงศตวรรษที่ 10 จากนั้น วงการดาบญี่ปุ่นก็ค่อยๆ เติบโตและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี ค.ศ. 1876 ที่มีประกาศคำสั่งไฮโตเร (Haitorei) ออกมาห้ามคนทั่วไปเป็นเจ้าของหรือพกดาบ ซึ่งก่อนที่จะมีคำสั่งนี้ ดาบคาตานะถือเป็นสิ่งของต้องห้ามสำหรับทุกคนที่มีสถานะต่ำกว่าซามูไร แต่คำสั่งนี้จำกัดสิทธิ์ในการพกดาบให้เหลือเพียงทหารและกลุ่มผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ปัจจุบันช่างฝีมือก็ยังคงอุทิศตนในการทำดาบคาตานะเรื่อยมา แต่การเป็นเจ้าของอาวุธมีดนั้นจำกัดเฉพาะแค่ดาบญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเท่านั้น และแน่นอนว่าการพกอาวุธติดตัวไปไหนมาไหนก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีและทักษะที่ใช้ในการทำดาบญี่ปุ่นอันคมกริบนั้นได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งในการผลิตมีดทำครัว เป็นเหตุให้มีดเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในเรื่องของความคม และเพราะด้วยมีดทำครัวญี่ปุ่นมีที่มาจากดาบญี่ปุ่น จึงทำการฝานบางๆ ขณะดึงมีดออกได้ดีมาก

2. เชฟชาวญี่ปุ่นนิยมใช้มีดคมเดียวที่เรียกว่า “วาโบะโชะ”

มีดทำครัววาโบะโชะ (Wabocho) สมัยใหม่นี้มีประวัติความเป็นมาเช่นเดียวกับดาบญี่ปุ่น มีเรื่องราวปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 และได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นจนสมบูรณ์ในระหว่างศตวรรษที่ 18 - 19
เมื่อเทียบกับมีดทำครัวสองคม (Double-bevel) แล้ว มีดคมเดียว (Single-bevel) อย่างวาโบะโชะนี้จะต้องใช้เทคนิคในการหั่นที่แม่นยำกว่า หากคุณต้องการหั่นอะไรบางอย่างด้วยมีดสองคมก็เพียงหั่นลงไปตรงๆ ได้เลย แต่หากใช้มีดคมเดียว ก็จะต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้หั่นออกมาได้ตรง ด้วยเหตุนี้ มีดวาโบะโชะจึงใช้งานค่อนข้างยาก แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ เทคนิคการหั่นที่เหมาะที่สุดสำหรับมีดญี่ปุ่นคือ "การปาด (Pull Slicing)"

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้อาหารญี่ปุ่นมักประกอบด้วยผักและอาหารทะเลเป็นหลัก และเพิ่งจะเริ่มมีการบริโภคเนื้อวัวอย่างแพร่หลายกันในญี่ปุ่นตอนช่วงศตวรรษที่ 19 หลักการพื้นฐานของอาหารญี่ปุ่นในปัจจุบัน (ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้) คือ เน้นรสชาติแบบธรรมชาติของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นหลักการที่เชื่อมโยงเข้ากับประเภทของมีดญี่ปุ่นที่ใช้ ตัวอย่างเช่น อาหารญี่ปุ่นอันเลื่องชื่ออย่างซูชิและซาซิมิที่ต้องแล่เนื้อปลาบางๆ ด้วยความแม่นยำ โดยได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าการใช้มีดแบบสองคมในการหั่นจะทำให้เนื้อปลาเละและทำให้เซลล์ของเนื้อปลาเสียหายซึ่งส่งผลเสียต่อรสชาติ และสำหรับซาชิมิที่มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าตาอาหารและการนำเสนอแล้ว ก็จะต้องแล่อย่างเนียนกริบด้วยมีดคมเดียวเท่านั้น ดังนั้น มีดวาโบะโชะและเทคนิค “การปาด” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

แต่ในญี่ปุ่นก็ยังมีมีดวาโบะโชะแบบสองคมเช่นกัน อย่าง “มีดนากิริ” (Nakiri) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อูสุโบโจ (Usubocho) มีดสองคมเหล่านี้มักใช้กับผักเป็นหลักเพราะเหมาะสำหรับการปอกเปลือกหรือสับผักใบเขียวมากกว่าเมื่อเทียบกับมีดคมเดียว มีดเหล่านี้ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของเชฟชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันด้วย

3. มีดทำครัวญี่ปุ่นวาโบะโชะมีหลายประเภท

WildSnap / Shutterstock.com

ว่ากันแบบคร่าวๆ แล้วมีดวาโบะโชะมีอยู่ 10 ประเภทหลัก แต่นั่นก็ไม่ได้นับรวมไปถึงมีดพิเศษประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น มีดทูน่าชนิดหนึ่งที่มีใบมีดยาว 1 เมตรที่ใช้สำหรับหั่นปลาทูน่าทั้งตัว (ภาพด้านบน) อีกทั้งยังเรียกกันว่ามีดแล่ปลา โดยจะมีให้เลือกหลายแบบขึ้นอยู่กับความยาวของมีดและจุดประสงค์ในการใช้งาน นักแล่ปลาแต่ละคนก็จะชอบใช้มีดในแบบที่ต่างกันไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แล้วยังมีมีดผ่าท้องที่ใช้สำหรับการผ่าเปิดท้องปลาทูน่าที่เพิ่งจับมาใหม่ๆ หรือมีดปังตอที่มักใช้กันบนเรือซึ่งจะมีใบมีดที่กว้างกว่ามีดทำครัวทั่วไปด้วย
สรุปแล้วก็คือ ใบมีดหลายประเภทถูกพัฒนาขึ้นในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้ถึงมีมีดทำครัวญี่ปุ่นประเภทต่างๆ อยู่มากมาย นอกจากนี้ ในบางภูมิภาคก็อาจจะนับมีดวาโบะโชะแบบสองคมเป็นมีดที่แยกออกมาต่างหากหรือไม่ด้วย โดยในกรณีที่นับแยกก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามวัสดุและเทคนิคในการทำมีด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณสมบัติของมีดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้การนับมีดทำครัวญี่ปุ่นที่มีอยู่ให้หมดทุกประเภทนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในทางกลับกัน ยังมีมีดอีกหลายประเภทที่สูญหายไปในประวัติศาสตร์หลังจากที่ไม่มีการใช้งานแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการแช่แข็งและเทคนิคการเลี้ยงปลาที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้มีดเหล่านั้นกันอีกต่อไป

4. มีดซะไกอุจิฮาโมโนะ : มีดวาโบะโชะที่ 90% ของเชฟชาวญี่ปุ่นเลือกใช้

มีดซะไกอุจิฮาโมโนะ (Sakai Uchi Hamono มีดซะไกที่ตีด้วยมือ) เป็นมีดที่ผลิตในซะไก ซึ่งอยู่ยังย่านชานเมืองของโอซาก้า เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น (โตเกียวเป็นอันดับ 1 ) มีดชนิดนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน นับคร่าวๆ ได้ราว 600 ปีและมีความเกี่ยวข้องกับเทคนิคการทำดาบของญี่ปุ่น คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของมีดซะไกอุจิฮาโมโน คือ ความเชี่ยวชาญระดับสูงที่ใช้ในการทำมีดแต่ละเล่ม ใบมีดจะผลิตด้วยการหลอมแบบพิเศษ ลับด้วยอุปกรณ์ลับคมใบมีด สลักลวดลายและจากนั้นจึงประกอบเข้ากับตัวด้าม แต่ละขั้นตอนต้องให้ช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละขั้นตอนเป็นคนทำเท่านั้น แม้กระทั่งทุกวันนี้ โรงงานผลิตมีดซะไกอุจิฮาโมโนะก็ยังคงผลิตใบมีดแต่ละเล่มด้วยมือ โดยจะนิยมทำกับงานตีมีดคมเดียวที่ต้องอาศัยการเชื่อมทุบ (Forge Welding) นับว่าเป็นวิธีการผลิตที่ยุ่งยากกว่าพอสมควร และด้วยเทคนิคที่ใช้ในการทำและความคมระดับนี้จึงทำให้ 90% ของเชฟญี่ปุ่นเลือกใช้มีดซะไกอุจิฮาโมโนะ

  • เพื่อตอบสนองความต้องการสมัยใหม่ ปัจจุบันจึงมีการผลิตมีดซะไกอุจิฮาโมโนะแบบสองคมขึ้นมาบ้างแล้ว

วิดีโอต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของช่างทำมีดจาก Yamawaki Cutlery ที่กำลังลับคมและประกอบตัวด้ามเข้ากับมีดซะไกอุจิฮาโมโนะ เนื่องจากมีดชนิดนี้ใช้กระบวนการผลิตที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงมีโรงงานไม่มากนักที่จะทำทั้งลับคมและประกอบตัวด้ามในที่เดียวได้

5. มีดวาโบะโชะมีทั้งแบบถนัดขวาและถนัดซ้าย

แม้โดยปกติแล้ว มีดวาโบะโชะแบบบคมเดียวจะเป็นมีดสำหรับคนถนัดขวา แต่ก็มีมีดสำหรับคนถนัดซ้ายที่คมมีดจะอยู่คนละฝั่งด้วยเหมือนกัน คุณจะเห็นมีดสำหรับคนถนัดขวาอยู่ในรูปที่ 2 ของต้นบทความ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคมนั้นอยู่ทางด้านขวาของตัวมีด เมื่อลองเปรียบเทียบกับรูปภาพด้านบนย่อหน้านี้ก็จะเห็นว่ามีดวาโบะโชะสำหรับคนถนัดซ้ายจะมีคมอยู่ทางด้านซ้ายมือ นี่จึงเป็นมีดที่เชฟชาวญี่ปุ่นที่ถนัดมือซ้ายเลือกใช้

6. มีดทำครัวญี่ปุ่นสามารถผลิตทีละมากๆ หรือทำมือทีละเล่มก็ได้

บริษัท KAI Group ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซกิ (Seki) ของจังหวัดกิฟุเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการผลิตมีดญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขายมีดรุ่น “ Shun” ไปแล้วกว่า 5 ล้านเล่มทั่วโลก มีดรุ่น Shun นี้ผลิตได้ครั้งละมากๆ จากการใช้แท่นกดสแตนเลสและเตาไฟฟ้าของโรงงาน แต่ถึงอย่างนั้น เซกิเองก็เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะเมืองแห่งการตีเหล็กเช่นเดียวกับซะไก โดยมีการผลิตมีดอุจิฮาโมโนะ (มีดที่ตีด้วยมือและอบคืนตัวเหล็กและเหล็กกล้า) เป็นจำนวนมาก ด้วยการใช้ความรู้ด้านการทำมีดที่สั่งสมมาตลอดหลายศตวรรษ บริษัท KAI Group จึงสามารถผลิตใบมีดที่แข็งเป็นพิเศษด้วยการใช้ผงเหล็กกล้าความเร็วสูง (Powdered High-Speed Steel) และผงเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดคาร์บอนสูง (Powdered High-Carbon Stainless Steel) ขึ้นมาได้ มีดที่ผลิตด้วยวิธีนี้จะใช้ง่าย คมไม่หายและไม่ค่อยเป็นสนิม

ภาพด้านบนเป็นภาพของมีด “ซันโตคุ (Santoku)” ชั้นดีจากเมืองเซกิที่มีลายเหล็ก “ฮอนวาริ (Honwari)” ไล่เป็นแนวตลอดสันมีด มีดซันโตคุเป็นมีดทำครัวอเนกประสงค์ที่ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากเนื้อวัวกลายเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น มีดชนิดนี้มีด้านคมสองด้านเพื่อที่จะสามารถใช้หั่นได้ทั้งผัก ปลา และเนื้อสัตว์ มีดซันโตคุมีอยู่หลายแบบและมีทั้งที่ทำจากสเตนเลสและกึ่งสเตนเลส มีข้อสันนิษฐานว่ามีดชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองที่ชื่อว่าสึบาเมะซันโจ (Tsubame-sanjo) ในจังหวัดนีกาตะ (Niigata)

Shun Cutlery Premier 8” Chef’s Knife

Source: Amazon.com
ตรวจสอบสถานะสินค้าใน Amazon.com

ในทางกลับกัน เชฟมืออาชีพสมัยใหม่นั้นยังคงให้คุณค่ากับมีดที่ทำด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมโดยช่างฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมา อย่างเช่น มีดซะไกอุจิฮาโมโนะ มีดเหล่านี้ตีขึ้นด้วยมือและได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับการใช้งานของมืออาชีพมากกว่า จึงไม่เหมือนกับมีดที่ผลิตคราวละมากๆ ซึ่งจะใช้งานได้ยาก* อีกทั้งมีดเหล่านี้ยังทำด้วยมือ จึงไม่มีมีดเล่มไหนที่เหมือนกันเลย นอกจากมีดซะไกอุจิฮาโมโนะแล้ว มีดชื่อดังอื่นๆ ที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ มีดโยอิตะฮาโมโนะ (Yoita Hamono) ของจังหวัดนีกาตะ มีดเอจิเซ็นอุจิฮาโมโนะ (Echizen Uchi Hamono) ของจังหวัดฟุคุอิ (Fukui) มีดบันชูมิกิอุจิฮาโมโนะ (Banshu Miki Uchi Hamono) ของจังหวัดเฮียวโกะ (Hyogo) และมีดโทซะอุจิฮาโมโนะ (Tosa Uchi Hamono) ของจังหวัดโคจิ (Kochi)

แต่ถึงอย่างนั้น เชฟแต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปว่ามีดเล่มไหนคือมีดที่ดีที่สุด

*เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเริ่มผลิตมีดกึ่งสเตนเลสแบบป้องกันสนิมที่ใช้งานง่ายได้กว่าด้วยเช่นกัน

7. ที่สุดของมีดทำครัวญี่ปุ่นคือ “มีดฮอนยากิ” ที่ยากทั้งตอนทำและตอนใช้

“มีดฮอนยากิ” (Honyaki) เป็นมีดที่ทำจากเหล็กกล้าล้วนๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่มีดส่วนใหญ่ผลิตจากการเชื่อมทุบเหล็กกล้าและเหล็กอ่อน มีดฮอนยากิกลับเป็นมีดที่ผลิตด้วยเหล็กกล้าบริสุทธิ์ มีดชนิดนี้มีความคมที่น่าประทับใจ แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่แพงระยับเนื่องจากเป็นมีดที่ผลิตยากมากและต้องอาศัยช่างมือดีที่สุดในการทำเท่านั้น อีกทั้งมีดชนิดนี้ยังถือว่าเป็นมีดที่ใช้งานยากมากสำหรับมือใหม่ จึงเหมาะสำหรับเชฟอาหารญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้น

ภาพด้านบนเป็นภาพของมีดทำครัวรุ่น Goh Umanosuke Yoshihiro ที่ผลิตโดยโรงทำมีด Yamawaki Cutlery ที่แนะนำอยู่ในวิดีโอหัวข้อที่ 4 ใบมีดฮอนยากิทำจากเหล็กสีขาวเบอร์ 2 คุณภาพสูง และมีชื่อทางเทคนิคว่า "ยานางิบะ” (Yanagiba) หรือ "ยานางิบะโฮโจ” (Yanagiba Hocho) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกมีดซาซิมิหรือมีดซูชิในแถบคันไซ (ทางตะวันตกของญี่ปุ่น) เป็นหลัก ตัวด้ามทำจากคุโรงากิ (Kurogaki) หรือต้นพลับสีดำชั้นสูงที่หายากซึ่งว่ากันว่ามีเพียงหนึ่งในพันต้นเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้ มีดรุ่นนี้จึงถือเป็นผลงานชิ้นเอกอย่างแท้จริงโดยไม่มีข้อสงสัยเลยทีเดียว

8. บทสรุป : มีดทำครัวญี่ปุ่นคมมากทุกเล่มจริงหรือ?

เป็นที่น่าเสียใจแต่คำตอบ คือ“ ไม่” มีดทำครัวญี่ปุ่นนั้นไม่ได้คมกริบจนน่าทึ่งไปเสียทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้ว หากพูดกันตามตรง มีดหลายๆ เล่มที่อยู่ในท้องตลาดก็ใช้หั่นของได้ไม่ดีนัก ซึ่งเราจะอธิบายให้คุณได้รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
หากคุณอ่านบทความทั้งหมดจนถึงตอนนี้ คุณคงรู้แล้วว่าทำไมมีดทำครัวญี่ปุ่นถึงได้คมนัก:

•มีดเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาจากดาบญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับความคมเป็นอย่างมาก

•มีดทำครัวญี่ปุ่นต้องคมเพื่อไม่ให้อาหารเสียรสชาติตามธรรมชาติของมันไป

•มีดเหล่านี้ผลิตโดยช่างฝีมือผู้ช่ำชองโดยใช้ทักษะและเทคโนโลยีที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
ฯลฯ

ถึงกระนั้น มีดทำครัวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ขายอยู่ตามท้องตลาดก็ไม่ได้คมถึงขนาดนั้น เป็นเพราะอะไรกันนะ?

มีหลายทฤษฎีที่บอกเอาไว้ว่าทำไม และหนึ่งในนั้นก็ได้กล่าวไว้ว่าสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้มีมีดทื่อๆ ขายอยู่ในญี่ปุ่นเต็มไปหมดเป็นเพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ใช้มีดกันมากขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว หากคุณไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็สามารถเลือกซื้อปลาที่แล่เอาไว้เรียบร้อย ซื้อซาซิมิหรือผักที่ฝานและหั่นเป็นชิ้นพอดีคำได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งหลายๆ ครัวเรือนก็เลือกที่จะบริโภคอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์แช่แข็งกันมากกว่า ผลที่ตามมา คือ จำนวนและโอกาสที่คนทั่วไปจะใช้มีดทำครัวจริงๆ ก็ลดน้อยลง ผู้ผลิตที่ใส่ใจเรื่องความคมจึงลดน้อยถอยลงตามไปด้วย ส่งผลให้มีมีดทื่อๆ หรือใบมีดสเตนเลสถูกๆ ที่ไม่ต้องการการดูแลรักษาอยู่เต็มไปหมด
หากคุณต้องการมีดทำครัวคมๆ เราขอแนะนำว่าการดูแค่มีดเล่มนั้นผลิตในญี่ปุ่นอาจไม่เพียงพอ ใช้บทความนี้เป็นแนวทางในการดูข้อมูลแหล่งผลิตในญี่ปุ่น, ชื่อโรงทำมีด, วัสดุ และเทคนิค จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเลือกซื้อมีดของคุณ

หากคุณใส่ใจดูแลมีดทำครัวญี่ปุ่นที่ผลิตมาอย่างดี ก็จะสามารถส่งต่อไปยังรุ่นหลานของคุณได้เลย ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณมาญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้ไปยังถนนช้อปปิ้ง Kappabashi ในโตเกียวหรือถนนช้อปปิ้ง Sennichimae Doguyasuji ในโอซาก้า ทั้ง 2 ที่นี้เต็มไปด้วยร้านขายเครื่องใช้ในครัวและร้านขายเครื่องครัวชนิดพิเศษต่างๆ รวมถึงร้านที่เชี่ยวชาญเรื่องมีดโดยเฉพาะด้วย หากคุณพบมีดที่ชอบ ก็ลองถือไปถามข้อมูลกับคนขายเลยก็ได้ รับรองได้เลยว่าคุณจะสามารถหามีดทำครัวญี่ปุ่นที่เหมาะกับคุณได้อย่างแน่นอน
อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

สินค้าอาจไม่สามารถจัดส่งไปยังบางประเทศได้ โปรดตรวจสอบบนเว็บไซต์ของผู้ผลิตสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Category_articlesJapanese culture/experiences